ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เตือนคนร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้นก เสี่ยงได้รับเชื้อราจากขี้นก กรมอนามัยระบุสุดอันตราย เพราะอาการเกิดขึ้นช้าๆ แนะวิธีป้องกัน

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มูลนกหลายชนิดเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus neoformans) ซึ่งพบมากในมูลนกตระกูลนกพิราบ และนกอื่นๆ ซึ่งเชื้อนี้จะเพาะได้ดีในสภาวะชื้นและแสงแดดส่องไม่ถึง จากการสำรวจพบว่า เชื้อราชนิดนี้สามารถเติบโตได้ดีในสภาพที่มีอุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส และหากอุณหภูมิสูงกว่านั้น หรือความชื้นน้อยกว่าจะตรวจพบเชื้อราชนิดนี้ได้น้อยลง ประชาชนสามารถรับเชื้อนี้ได้ด้วยการหายใจเอาสปอร์ หรือตัวเชื้อราเข้าไปในปอด โดยทั่วไปเชื้อราและสปอร์จะมีน้ำหนักเบา และถูกพัดพาให้กระจายไปในอากาศได้ง่าย หากเข้าใกล้บริเวณที่มีรังนก หรือเป็นโรงเรือนเลี้ยงนก หรืออยู่ใกล้กรงนกที่ไม่ได้ทำความสะอาด มีมูลนกสะสมจำนวนมาก ก็อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะหายใจเอาเชื้อรา หรือสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้

นพ.พรเทพ กล่าวว่า เมื่อได้รับเชื้อจะมีผลที่ปอดก่อน และลามไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายผ่านกระแสเลือด การเกิดโรคจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ คนที่ได้รับเชื้อนี้เข้าไปจะมีอาการปวดศีรษะเป็นพักๆ และอาการปวดจะเพิ่มขึ้นร่วมกับอาการหน้ามืด วิงเวียน ปวดขมับ เบ้าตา บางครั้งอาจถึงอาเจียน ไอ และมีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำ น้ำหนักลด อาจมีหลอดลมอักเสบร่วมด้วย ในบางรายจะไม่แสดงอาการ แต่เชื้อจะฟักตัวในร่างกายเป็นเวลาหลายปี จนเมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่องจะแสดงอาการออกมา โดยเชื้ออาจพบได้มากในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติและรักษาได้ยากกว่า การรักษาต้องใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลาระยะหนึ่ง และรักษาตามอาการอื่นๆ

“ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ควรจะหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อดังกล่าว และรู้จักป้องกันตัวเอง เช่น สวมผ้าปิดปากและจมูกเวลาทำความสะอาดอาคารเก่า หรือบริเวณที่พบนกอาศัยอยู่ เพราะอาจเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคจากมูลนกปนเปื้อน และล้างมือทุกครั้งหลังทำความสะอาด นอกจากนี้ การไล่นกจากที่อยู่อาศัยสามารถทำได้ด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ กั้นตาข่าย ตะแกรง หรือขึงเอ็นกีดขวาง เพื่อไม่ให้นกทำลายแล้วเข้ามาอาศัยในอาคารได้ หรือการไล่นกด้วยกลิ่น เช่น กลิ่นสกัดจากสารในเม็ดองุ่น หรือใช้สารเคมีที่มีผลโดยตรงกับเยื่อบุหลอดลมของนก ได้แก่ การบูร พิมเสน ลูกเหม็น ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรผ่านกระบวนการผลิตด้วยระบบนาโนเทคโนโลยี ใช้พ่นเพียงครั้งเดียวแต่สามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนานหลายเดือน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว