ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แรงงานนอกระบบ เสนอ ก.แรงงาน จัดงบจัดงานวันแรงงาน หนุนกิจกรรมแรงงานนอกระบบ - ร่วมเป็นบอร์ดประกันสังคม ด้าน รองปลัด ก.แรงงาน แนะทำแผนงานโครงการเสนอของบ ชี้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขเปิดช่องให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคม เผยร่างกฎหมายต่อกฤษฎีกาไปแล้ว ลุ้น สนช. ไฟเขียว
       
นางอรุณี ศรีโต กรรมการยุทธศาสตร์แรงงานนอกระบบ กล่าวภายหลังเข้าพบ นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 23 ก.ค. เพื่อหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนและพัฒนาแรงงานนอกระบบ ว่า ปัจจุบันมีแรงงานกว่า 25 ล้านคน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงอยากให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) สนับสนุนให้แรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ โดยอาจจะรวมกับแรงงานในระบบ หรือแยกให้งบจัดงานเฉพาะแรงงานนอกระบบ รวมทั้งขอให้ กสร. และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนในการจัดกิจกรรมของแรงงานนอกระบบ รวมถึงจัดบุคคลากรเข้าไปช่วยเหลือในการดำเนินการโครงการของแรงงานนอกระบบ เช่น การจัดประชุมต่างๆ ที่บางครั้งยังขาดแคลนทรัพยากร การประชุมเพื่อให้ความรู้ประกันสังคมมาตรา 40 ขาดบุคลากร นอกจากนี้ อยากให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคม เพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านแรงงานและงานด้านประกันสังคม มาตรา 40 และอยากให้ สปส. ประสานงานกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ช่วยรวบรวมเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40 ส่งต่อมายัง สปส. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แรงงานนอกระบบในพื้นที่ทุรกันดารจะได้ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางเข้าเมืองมาจ่ายเงินสมทบ
       
ด้านนายพีรพัฒน์ กล่าวว่า ข้อเสนอของกลุ่มผู้แทนศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบระดับชาติในเรื่องการมีส่วนร่วมกำหนดกิจกรรมและงบประมาณจัดงานวันแรงงานแห่งชาตินั้น เนื่องจากงบประมาณจัดงานในวันแรงงานแห่งชาติปีงบประมาณ 2558 ซึ่งตั้งไว้ที่ประมาณ 3.5 ล้านบาท ได้มีการเสนอของบประมาณต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว ทั้งเรื่องของงบการจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ รวมถึงงบสนับสนุนกิจกรรม โครงการต่างๆ ของแรงงานนอกระบบขอให้กลุ่มผู้แทนศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบระดับชาติจัดทำแผนงานกิจกรรมและโครงการเสนอมายัง กสร. และ สปส. โดยในส่วนของงบการจัดงานวันแรงงานแห่งชาตินั้นอยากให้เสนอแผนงานของบภายในเดือนตุลาคมนี้
       
นายพีรพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการร่วมเป็นตัวแทนของแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคมนั้น ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับแก้ไขได้กำหนดไว้ในเรื่องนี้ ซึ่งร่างกฎหมายก็ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ไปแล้ว แต่เนื่องจากมีเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายต้องยุติไป ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เรียกผู้แทน สปส. ไปยืนยันว่าจะยังคงใช้ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับแก้ไขที่ผ่านสภา วาระ 1 หรือไม่ ทาง สปส. ก็ได้ยืนยันไปว่าเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขฉบับเดิม ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขมีสาระสำคัญในเรื่องกรรมการประกันสังคมโดยเปลี่ยนคำว่าผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเป็นผู้แทนผู้ประกันตนแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ตัวแทนแรงงานนอกระบบซึ่งอยู่ในประกันสังคมมาตรา 40 รวมทั้งผู้แทนผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ประกันตนเองเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคม ทั้งนี้ หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทาง กสร. จะแก้ไขร่างระเบียบการเลือกตั้งและสัดส่วนกรรมการประกันสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหากฎหมายที่แก้ไข