หลังจากตอนที่ 1 ได้บรรยายถึงประเภทของไพร่ ว่ามีทั้งไพร่หลวง ไพร่สม ไพร่ส่วย การจัดทำทะเบียนขึ้นสังกัด การสักหมายหมู่หรือสักเลกแล้ว จะได้กล่าวถึงลักษณะการเกณฑ์ไพร่ และภาระงานที่ไพร่ต้องกระทำต่อไป

หน้าที่และการเกณฑ์แรงงานไพร่

หลังจากสักเลกแล้ว มูลนายต้นสังกัดจะทราบว่าต้องเกณฑ์อะไรจากคนของตน บางกรมเกณฑ์แรงงาน บางกรมเกณฑ์ส่วย บางกรมก็เกณฑ์ทั้ง 2 อย่าง ยามมีศึกสงคราม ไพร่คือกำลังรบ โดยหากเป็นการยกทัพไปตีเมืองอื่น กฎหมายอนุญาตให้จ้างวานผู้ที่ไม่ได้ถูกเกณฑ์ไปรบแทนตนเองได้ แต่หากข้าศึกยกมาประชิดเมือง ห้ามไม่ให้จ้างวานคนอื่นรบแทน 

ขณะที่ยามสงบนั้นเป็นการเกณฑ์เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน โดยอาจแบ่งเป็น 2 อย่าง คือการเกณฑ์ปกติ และการเกณฑ์เฉลี่ย

การเกณฑ์ปกติ

คือการเกณฑ์ตามพันธะหน้าที่ของไพร่ เช่นไพร่หลวงต้องเข้าเดือนปีละ 3-4 ผลัด ตามระบบเข้าเดือนออก2เดือนในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือ เข้าเดือนออก 3 เดือนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา

ส่วนไพร่สมนั้น แต่เดิมมิได้มีการเกณฑ์ราชการไพร่สม แต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีความจำเป็นต้องเร่งสร้างพระนคร จึงโปรดให้ไพร่สมมาซ่อมแซมกำแพงเมือง เลยเกิดเป็นธรรมเนียมให้เกณฑ์ราชการไพร่สมปีละ 1 เดือน หากไม่มีราชการให้ต้องใช้แรง ก็อาจเรียกเก็บเป็นเงินคนละ 6 บาท/ปี

ทั้งนี้ งานหลักๆที่ต้องเกณฑ์ไพร่มาใช้แรงงานนั้น ประกอบด้วย 1.สงครามและความวุ่นวายภายใน ซึ่งในช่วงก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใหม่ๆนั้น มีการรบพุ่งกับพม่าบ่อยครั้ง โดยระหว่าง พ.ศ.2328-2330 มีการรบถึง 4 ครั้ง เป็นสงครามใหญ่ 2 ครั้ง คือ สงคราม 9 ทัพ ในปี พ.ศ.2328 และ สงครามที่ท่าดินแดงในปี พ.ศ.2329 รวมทั้งสงครามอันนัม-สยามยุทธ ในสมัยรัชกาลที่ 3 กินเวลานานปี ตลอดจนสงครามย่อยๆและการปราบกบฏ เช่น กบฏสาเกียดโง้ง สมัยรัชกาลที่ 2 หรือ กบฏเจ้าอนุวงศ์สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้น

2.งานโยธา ก่อสร้าง ซ่อมแซม บูรณปฏิสังขรณ์สถานที่สำคัญของหลวง หรือของสถาบันศาสนา ตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะช่วงรัชกาลที่ 3 มีการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดมากมาย จนถึงขั้นต้องตั้งหมู่ไพร่ใหม่ขึ้นมาอีกกรม เรียกว่ากรมเกณฑ์บุญ ทำหน้าที่เป็นช่างปูน ช่างศิลา ก่อสร้างซ่อมแซมพระอารามโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการเกณฑ์แรงงานจากไพร่สมและทาส รวมทั้งนำเงินที่ได้จากไพร่ส่วย มาจ้างแรงงานจีนขุดคลอง ตัดถนน ทำสะพานด้วย

3.งานเวรยามรักษาการณ์ กองตระเวนรักษาด่าน กองจับโจรผู้ร้าย และขบวนคุ้มกันเจ้านายยามเดินทางไปหัวเมือง งานประเภทนี้ต้องเกณฑ์แรงงานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จงบจนกระทั่งมีการจัดตั้งกองทัพประจำการและตั้งหน่วยงานทำหน้าที่เป็นตำรวจแบบชาติตะวันตก พันธะด้านนี้ของไพร่จึงค่อยได้รับการปลดเปลื้อง

4.งานอื่นๆ เช่น เกณฑ์มามาเข้าร่วมขบวนในพระราชพิธีประจำปี อย่างงานถวายผ้าพระกฐิน หรืองานก่อสร้างเมรุพระบรมศพ หรือมาหัดแสดงมหรสพสมโภช ทั้งโขน ละคร และกายกรรม รวมทั้งมีการเกณฑ์ไปทำงานในเหมืองทองที่ปราจีนบุรีและกบินทร์บุรี ในช่วงหลังจากที่ทำสนธิสัญญาเบาริงเมื่อ พ.ศ.2398 ด้วย

ขณะที่การเกณฑ์ส่วยนั้น เจ้าพระยามหินธรศักดิธำรงค์ เคยอธิบายที่มาของไพร่ส่วยว่า ตามธรรมเนียมโบราณนั้น ไพร่ส่วยเป็นคนที่จัดไว้สำหรับไปรบ เมื่อว่างเว้นจากสงคราม คนเหล่านี้ก็อยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไร จึงให้จัดส่งส่วยแทน และยอมให้ทำมาหากินอยู่ที่ภูมิลำเนาเพื่อสำรองกำลังและเสบียงอาหารให้พร้อมทำสงคราม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ธรรมเนียมนี้ก็ลืมเลือนไป เวลาเกิดสงครามกลับไปเรียกเกณฑ์ไพร่กลุ่มอื่นๆไม่ใช่เฉพาะที่เป็นไพร่ส่วย กลายเป็นธรรมเนียมใหม่ขึ้นมาแทนที่

สำหรับส่วยที่ต้องส่งให้ทางราชการมีอยู่ 3 ประเภทคือ 1.ผลิตผลทางการเกษตร ที่สำคัญๆคือข้าวและพริกไทย  2.ของป่า เช่น เร่ว ไม้ ไม้หอม ไม้ฝาง ครั่ง น้ำรัก รังนก ปีกนก งาช้าง หนังและเขาสัตว์ ของป่าเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกส่งไปขายยังเมืองจีนและเมืองท่าในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และ 3.แร่ธาตุ เช่น ดีบุก เงิน ทองคำ

การค้าขยายที่รุ่งเรืองขึ้น ทำให้การขยายตัวของไพร่ส่วยเพิ่มตามไปด้วย ระบบไพร่จึงมีแนวโน้มยอมให้ไพร่ส่งส่วยหรือเงินมาทดแทนการใช้แรงงานได้มากขึ้น เท่ากับผ่อนผันให้ไพร่ได้รับความทุกข์ยากน้อยลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ หลังจากมีสนธิสัญญาเบาริง พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา การค้าระหว่างไทยกับจีนก็ซบเซาลง เพราะไทยหันมาค้าขายกับชาติตะวันตกแทน ชาติฝรั่งต้องการข้าวมากที่สุด รองลงมาคือไม้สักกับดีบุก แต่ไม่ต้องการของป่าแบบที่เคยขายให้จีน 

อย่างไรก็ตาม ประเภทสินค้าที่เปลี่ยนไปไม่ได้ลดความสำคัญของไพร่ส่วยลง แต่กลับทำให้ไพร่ส่วยเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากต้องการแรงงานไว้บุกเบิกที่ดินขยายที่นาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว การเกณฑ์ส่วยโดยเฉพาะเงินตราจึงเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าการเกณฑ์แรงงาน ทำให้ไพร่มีเวลาหากินมากขึ้น และเงินที่เก็บได้ยังนำมาว่าจ้างแรงงานมาทำงานแทนได้อีกด้วย ทางราชการก็ดูจะพอใจใช้แรงงานจ้างมากกว่าแรงงานเกณฑ์ เพราะทำงานได้เร็วกว่า ผลงานที่ออกมาก็มีคุณภาพดีกว่า

การเกณฑ์เฉลี่ย

หมายถึงการเกณฑ์แรงงานเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากการเกณฑ์ปกติ อาจเป็นเพราะเกิดขาดแคลนแรงงานหรือข้าวของกระทันหันและจำเป็นต้องใช้อย่างรีบด่วน แต่ไม่มีเวลาจัดหา จึงต้องใช้วิธีเกณฑ์เฉลี่ยจากกรมกอง หรือตามหัวเมืองต่างๆเพื่อให้ทันกับความต้องการในขณะนั้น

งานอย่างหนึ่งที่มักมีการเกณฑ์เฉลี่ยไปตามหัวเมืองเสมอๆ คืองานพระเมรุพระบรมศพพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง ซึ่งต้องสร้างเมรุถวายพระเพลิงที่ท้องสนามหลวง ข้าวของทุกอย่างต้องเกณฑ์เพิ่มเติมทั้งสิ้น ตั้งแต่ไม้ไผ่ทำนั่งร้าน ไม้ต่างๆ เสา เชือกหนัง ชัน หวาย น้ำมันยาง จนถึงผ้า นอกจากนี้ ยังมีการเกณฑ์แรงงานคนมาร่วมขบวนแห่ในงานสมโภชต่างๆอีกด้วย

การเกณฑ์เฉลี่ย ยังอาจเกิดจากงานประจำที่ทำอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นงานพระราชพิธีก็ได้ ตัวอย่างเช่นใน พ.ศ.2399 มีการเกณฑ์เฉลี่ยไม้พลองลาย ยาววาเศษวัดรอบนิ้วได้ 3-4 นิ้ว จากเมืองไชยา 600 อัน และชุมพร 400 อันเพื่อมาจ่ายให้กรมการรักษาพระองค์ โดยให้เวลาจัดหาราว 2-3 เดือนเท่านั้น หรืออีกกรณีในปีเดียวกันมีความต้องการไม้พลองคัด ขนาดยาว 4 ศอกวัดรอบได้ 1 กำมือ เพื่อใช้กระทุ้งรากพระอุโบสถและใช้ในงานอื่นของพระบรมมหาราชวัง ก็ใช้การเกณฑ์เฉลี่ยจากชุมพร 400 อัน ไชยา 500 อัน หลังสวน 300 อัน และปะทิว 150 อัน โดยให้เวลาจัดหาไม่เกิน 2 เดือน 

นอกจากนี้ การเกณฑ์เฉลี่ยจะกระทำก็ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์มีพระราชประสงค์อยากได้อะไรก็ตามอีกด้วย เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปี พ.ศ. 2400 มีพระราชประสงค์จะนำชะนีไปปล่อย ณ สวนทำใหม่ ต.บางอออีน แขวงกรุงเก่า จึงให้มีการเกณฑ์เฉลี่ยชะนีจากเมืองชุมพรและกำเนิดนพคุณ เมืองละ 4 ตัว และจากประจวบคีรีขันธ์ 3 ตัว โดยให้เวลา 1 เดือนในการนำชะนีมาถวาย 

ถัดจากนั้น 3 ปีในปี  พ.ศ. 2403 ให้เกณฑ์ช่าง ทำดาบญี่ปุ่นขนาดเล็กด้วยเหล็กไหลจำนวน 25 เล่มตามแบบที่พระราชทานมาเป็นตัวอย่าง และให้ทำกระบังดาบปรุเป็นลวดลายกับฝักดาบกะไหล่ทองเกลี้ยงไม่มีลาย กระบังดาบและฝักดาบให้ใช้เงินอากรสุรากับอากรบ่อนเบี้ยเมืองนครศรีธรรมราชเป็นค่าใช้จ่ายในการทำ โดยดาบเหล่านี้พระองค์จะพระราชทานให้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ที่กราบบังคมทูลขอไว้ เอาไว้เล่นกัน

การเกณฑ์เฉลี่ยจึงเป็นปรากฏการที่จะเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ เกณฑ์อะไรก็ได้ ใช้ในกิจการอะไรก็ได้ หรือเอาไปให้ใครก็ได้ตามแต่พระมหากษัตริย์จะมีพระราชประสงค์  ไพร่มีหน้าที่จัดหามาส่งตามที่ถูกเรียกเกณฑ์ แม้ว่าช่วงนั้นจะเป็นช่วงออกเดือนก็ตาม 

เมื่อมีการเกณฑ์เฉลี่ย ทำให้ไพร่ต้องสละเวลาทำมาหากินมาทำงานให้หลวงก่อน บางครั้งก็เป็นภาระหนักหนาจนไพร่ต้องร้องทุกข์ เช่น กรณีไพร่หลวงละว้า ข่า สอูต เมืองกาญจนบุรี ถูกเกณฑ์มาทำค่ายหลวงพลับพลารับเสด็จรัชกาลที่ 5 เสด็จประภาสไทรโยค แล้วยังถูกเกณฑ์เฉลี่ยมาตัดไม้ยาง ยาว 5 วาอีก 50 ต้น นับเป็นงานหนักมาก จึงโปรดให้ไม่ต้องส่งส่วยในปีนั้นไปเลย

ทั้งนี้ หน้าที่ของไพร่นอกจากการเกณฑ์ปกติและเกณฑ์เฉลี่ยแล้ว  ไพร่ยังมีพันธะต้องรับใช้มูลนายด้วย ทั้งไพร่หลวงและไพร่สม มีกฎหมายอนุญาตให้มูลนายใช้งานไพร่ทำงานส่วนตัวได้แต่ห้ามใช้เหมือนทาส กระนั้นการห้ามปรามหรือบังคับใช้คงไม่มีผลอะไรมากนัก เพราะมีกฎหมายตามมาอีกหลายฉบับย้ำนักย้ำหนาว่าอย่าใช้ไพร่หนักเกินไป อย่ากดขี่ไพร่ มีบทลงโทษผู้ละเมิดอย่างรุนแรง ตั้งแต่การปรับ เฆี่ยนตี ถอดลงเป็นไพร่  ริบทรัพย์สินลูกเมียและบริวาร ไปจนถึงประหารชีวิต สะท้อนว่ามีการละเมิดกฎหมายมากมาย ทั้งยังมีกฎหมายยังพยายามห้ามไม่ให้มูลนายใช้งานบุตรและภรรยาของไพร่  แสดงว่าลูกเมียของไพร่ก็ถูกเกณฑ์นอกระบบอีกด้วย

เหตุที่มูลนายมีโอกาสหลบเลี่ยงกฎหมายใช้งานไพร่ได้มากเช่นนี้ เพราะระบบที่เป็นอยู่เอื้อประโยชน์ให้ ทั้งทะเบียนเลกที่คลาดเคลื่อนจากความจริงก็ดี การสักเลกที่ไม่ทั่วถึงหรือไม่สม่ำเสมอก็ดี  และโอกาสที่ไพร่จะกล้าฟ้องร้องต่อมูลนายของตนก็แทบจะไม่มี ล้วนทำให้ไพร่ถูกเกณฑ์นอกราชการได้ง่ายมาก สำหรับมูลนายแล้ว ไพร่ในสังกัดคือแหล่งทำรายได้สำคัญ แถมยังเป็นฐานอำนาจทางการเมืองในเวลาเดียวกัน 

การเกณฑ์แรงงานไพร่เปลี่ยนแปลงบทบาทอย่างเห็นได้ชัดในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปด้านต่างๆ ทำให้มีหน่วยงานใหม่ๆเข้ามาทำหน้าที่แทนระบบไพร่ทีละน้อย ไพร่ค่อยๆถูกโอนย้ายการควบคุมจากกรมกอง ไปขึ้นสังกัดกับเมืองแทน การเกณฑ์แรงงานและส่วย ถูกเปลี่ยนเป็นการเก็บ เงินค่าราชการ ในที่สุดการเกณฑ์แรงงานก็ถูกจำกัดความหมายเฉพาะการเกณฑ์ทหารเท่านั้น 

ดังนั้นแม้ไม่มีการประกาศยกเลิกระบบไพร่อย่างเป็นทางการเหมือนการเลิกทาส แต่ระบบไพร่ก็ไม่มีอยู่ในสังคมไทยอีกต่อไป หลังการประกาศ พ.ร.บ.ลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124

(หมายเหตุ : เรียบเรียงจากหนังสือประวัติศาสตร์แรงงานไทย ฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร จัดพิมพ์โดยพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิฟรีดริก เอแบร์ท)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

แรงงานไพร่ในสังคมไทยโบราณ (ตอนที่ 1)