ลึกลงไปในจิตใจแรงงานต่างด้าว ต่างยังตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว มากขึ้น มากขึ้น มากยิ่งขึ้น
แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะแถลงนโยบายชัด ไม่ปราบปราม-ไม่กวาดล้าง-ดำเนินการค่อยเป็นค่อยไป
แต่ทว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
นาทีนี้ แรงงานต่างด้าวกำลัง “หนีตาย” ออกจากแผ่นดินไทยอย่างอลหม่าน
สำนักข่าวยักษ์ใหญ่เมืองผู้ดีอย่าง บีบีซี รายงานเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีชาวกัมพูชาถึง 7 หมื่นราย แห่กลับภูมิลำเนา
ทั้งหมดมีเหตุผลเดียวกันคือหวาดกลัว “ผู้นำกองทัพไทย” จะกวาดล้าง
ภาพจากทวิตเตอร์ IOM ที่รายงานว่าแรงงานชาวกัมพูชารอข้ามแดนกลับประเทศ และรายงานตัวเลขในสัปดาห์นี้ว่ามีกว่า 7 หมื่นคนแล้ว
ข่าวดังกล่าวอ้างอิงจากข้อมูลขององค์กรสากลด้านการอพยพ (ไอโอเอ็ม) ที่เผยข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ว่า มีชาวกัมพูชาข้ามชายแดนไทยกลับประเทศไปแล้วกว่า 7 หมื่นคน
โฆษกไอโอเอ็ม บอกว่า ชาวกัมพูชาที่อพยพออกจากไทยจำนวนมากมีความรู้สึกหวาดกลัวว่าไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกตัวเอง หากยังทำงานอยู่ในประเทศไทยต่อไป
มากไปกว่านั้น ถึงขั้นทางการกัมพูชาถึงขั้นเตรียมแผนรองรับ นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน มีคำสั่งให้จัดรถบรรทุกทหาร 150 คัน คอยอำนวยความสะดวกรับแรงงานข้ามแดนกลับภูมิลำเนา
นั่นเพราะกัมพูชามีตัวเลขว่า ไทยได้ส่งแรงงานชาวกัมพูชากลับประเทศแล้ว 4 หมื่นราย โดยนับตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.
“เราประเมินว่ามีแรงงานประมาณ 4 หมื่นคน ข้ามฝั่งจากไทยนับตั้งแต่ต้นเดือน” ผู้ว่าการเมืองปอยเปต ซึ่งเป็นจุดตั้งด่านพรมแดนระหว่างประเทศกัมพูชา-ไทย ระบุ
ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ชาวกัมพูชาหลั่งไหลกลับบ้านเกิดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางความหวาดกลัวหลังทางการไทยขู่ว่าจะจับกุมและเนรเทศ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีแรงงานชาวกัมพูชากว่า 1.1 แสนคน
ถึงขั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา ต้องออกมาแถลงการณ์ตำหนิกองทัพไทยว่า การขับไล่แรงงานออกจากประเทศเป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะการบังคับให้ออกนอกประเทศด้วยรถบรรทุกที่ต้องเบียดเสียดยัดเยียดกันในรถ
เพื่อไม่ให้บานปลาย พล.ต.ท.ศักดา ชื่นภักดี จเรตำรวจ ในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีบันทึกข้อความถึงข้าราชการตำรวจสังกัด สตม. เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว
“เพื่อให้การปฏิบัติไม่เกิดผลกระทบต่อการประกอบกิจการในภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องตามนโยบายคืนความสุขให้ประเทศของ คสช. จึงให้หน่วยงานในสังกัด สตม. รอฟังแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนจากหน่วยเหนือไว้ก่อน โดยมิให้กระทำการใดๆ ที่สร้างเงื่อนไข ... หากมีนโยบายแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนประการใด จะกำหนดเพื่อเป็นข้อสั่งการในการปราบปรามจับกุมต่อไป”
ติดเบรกดัง เอี๊ยดดดดด
รับลูกโดย นายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ต้องออกโรงตั้งโต๊ะชี้แจงว่า ความรุนแรงในการผลักดันแรงงานออกนอกประเทศนั้นเป็นเพียงข่าวลือ และจนถึงขณะนี้ยังหาแหล่งที่มาของข่าวไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทุบตี ทำร้ายร่างกาย ทำลายเอกสารการเดินทาง
“แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องการให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ขจัดการแสวงหาผลประโยชน์จากการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานและการค้ามนุษย์” โฆษกกระทรวงบัวแก้วระบุ และยืนยันว่า หากแรงงานกัมพูชาที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่เดินทางกลับไปยังกัมพูชาแล้ว และประสงค์จะเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีก กระทรวงการต่างประเทศขอให้แสดงความจำนงผ่านกระบวนการจ้างแรงงานและเดินทางเข้ามาประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
จากถ้อยแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ มีประเด็นที่น่าฉุกคิดท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นตลบ
ทุกครั้งที่มีการจับกุมแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่ล้วนสารภาพตรงกันทั้งสิ้นว่า การเข้า-ออกเมืองทุกครั้ง มี “นายหน้า” ซึ่งเป็นคนไทยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
“จากการสอบสวนทราบว่าแรงงานชาวพม่าทั้งหมดนี้อาศัยอยู่ที่จังหวัดเมียวดีประเทศพม่า ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยเข้ามาทางสะพานมิตรภาพไทย-พม่า อ.แม่สอดผ่านนายหน้าจัดหางานจะเสียเงินคนละ 5,000 - 6,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชายจะทำงานเป็นกรรมกร ผู้หญิงจะทำงานร้านอาหาร” ข้อมูลจากตำรวจภูธร จ.ตาก ว่าไว้เช่นนั้น
“แรงงานชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ลักลอบข้ามแดนมาทางด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ด ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ก่อนพากันขึ้นรถตู้โดยสารไปลงที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร อ.ปราสาท และเดินทางต่อไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อรับจ้างทำงานตามโรงงาน โครงการก่อสร้างและห้างร้านต่างๆ โดยจ่ายค่าหัวให้นายหน้า คนละ 3,000-4,000 บาท เพื่อให้นำพาไปรับจ้างทำงาน สำหรับการออกประเทศจะมีชาวกัมพูชาที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทยก่อนแล้วเป็นผู้นำพาออกมาจากประเทศ” ข้อมูลจากตำรวจภูธร จ.สุรินทร์
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง
จากการลงพื้นที่ของสำนักข่าว Hfocus เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ของกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่ จ.ระนอง พบว่า ทุกอย่างดำเนินการอย่างเป็น “กระบวนการ”
เริ่มต้นจาก มีคนไทยเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านของชาวพม่าและกัมพูชาที่ประเทศของเขา พร้อมทั้งเสนอทางเลือกว่าหากต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยซึ่งมีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะต้องจ่ายเงินให้เขา
“ค่าเดินทาง ค่าผ่านทาง รวมแล้ว 1.5 หมื่นบาท รับรองไม่ถูกจับ” คือข้อเสนอของนายหน้าชาวไทย
เมื่อตกลงปลงใจได้ ก็จะถูกพาเข้าประเทศไทยมาทาง อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนจะส่งต่อไปที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อทำงานในโรงงาน
“แต่มันยังไม่จบ สัปดาห์ต่อมาเขามาหาผมอีก เขาบอกว่ากฎหมายไทยกำหนดให้แรงงานต่างชาติต้องขอใบอนุญาตทำงาน ต้องเสียอีก 6,500 บาท” แรงงานต่างด้าวรายนี้เล่า
แรงงานรายนี้เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิเข้าประกันตนในระบบประกันสังคม เขาบอกว่าถูกนายหน้าบังคับให้จ่าย 2,500 บาท เป็นค่าบัตรประกันสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่ข้อเท็จจริงราคาเพียง 1,600 บาท
หนำซ้ำยังต้องจ่ายอีก 4,500 บาท เป็นค่าตรวจสุขภาพ ทั้งที่ราคาจริงอยู่ที่ 600 บาท เท่านั้น
นี่ยังไม่นับ ค่ารถเหมาจ่ายจนถึงโรงงาน ค่าทำพาสปอร์ต ค่าทำบัตรประกันสุขภาพ ค่าสมัครงาน ฯลฯ
ทุกขั้นตอน มีการบวกค่าดำเนินการเกินจริงเท่าตัว
แน่นอนว่า ทุกจังหวะ-ทุกขั้นตอน มีเม็ดเงินเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น นายหน้า-ไอ้โม่ง ยิ้มร่าทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย
คำถามคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าปฏิบัติการกวาดล้าง-ส่งกลับแรงงานต่างด้าว จะมีคน “ปากมัน” รอรับผลประโยชน์
เป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง แรงงานจำนวนร่วม 1 แสนนี้ จะไหลกลับเข้ามาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง
และเป็นไปได้หรือไม่ว่า นายหน้า-ไอ้โม่ง กลุ่มเดิมก็จะได้รับผลประโยชน์แบบล้นทะลัก
โปรดจับตา ... ยังมีอะไรทับซ้อนในรายละเอียดอยู่อีกมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถอดรหัสนโยบายแรงงานข้ามชาติ 'คสช.' : ผิดทาง-ถอยหลัง
สึนามิ 2 ลูกซัดภาพลักษณ์ “ไทย” พัง กวาดล้างต่างด้าว-แรงงานทาสฉาวทั่วโลก
ต่างด้าวเลือดไหลไม่หยุด โดมิโนเศรษฐกิจพังครืน 'มั่นคง' ดาหน้า ‘ขันชะเนาะ’ ไม่เป็นผล
‘กันต่างด้าวเป็นพยาน-เอาผิดอิทธิพลเถื่อนขบวนการค้ามนุษย์’ ข้อเสนอจากนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
โซนนิ่งแรงงานต่างด้าว สรุปยอดไหลออกล่าสุด 9 หมื่น จับตาไทยถูกหั่นเครดิต 21 มิ.ย.นี้
- 62 views