ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสเมอร์สในซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นเป็น 139 รายแล้ว ขณะที่องค์การอนามัยโลกเตรียมจัดประชุมฉุกเฉิน เกี่ยวกับการแพร่กระจายที่รวดเร็วขึ้นของเมอร์ส

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ว่า ทางการของประเทศซาอุดีอาระเบีย ประกาศเมื่อวันเสาร์ ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส 'กลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง' หรือ 'เมอร์ส' (Middle East Respiratory System: MERS) ในประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 139 รายแล้ว ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO: ฮู) เตรียมจัดประชุมฉุกเฉิน จากความกังวลเรื่องการแพร่กระจายของไวรัสตัวนี้

กระทรวงสาธารณสุขซาอุดีอาระเบียเผยว่า จากข้อมูลที่อัพเดตล่าสุดเมื่อช่วงเที่ยงวันเสาร์ (10 พ.ค.) มีผู้เสียชีวิตเพราะไวรัสเมอร์สถึง 6 คน ภายในเวลาเพียง 27 ชั่วโมง โดยผู้ตายเป็นหญิง 3 คน อายุ 22, 26 และ 35 ปี เสียชีวิตที่กรุงริยาด อีก 2 คนเป็นหญิงอายุ 68 ปี และชายวัย 78 ปี เสียชีวิตที่เมืองเมดินา และคนสุดท้ายเป็นชายอายุประมาณ 70 ปี เสียชีวิตที่เมืองเจดดาห์ ทางตะวันตกของประเทศ

เมื่อวันศุกร์มีผู้เสียชีวิตทั้งจากไวรัสเมอร์อีก 7 ราย โดยเป็นชาย 3 คน อายุ 94, 51 และ 42 ปี เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ที่เมืองเจดดาห์ นอกจากนี้ยังมีชายวัย 74 ปี เสียชีวิตที่เมืองตาอีฟ ขณะที่หญิงวัย 71 ปี และชายวัย 81 และ 25 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเมืองหลวง กรุงริยาด

อนึ่ง ข่าวผู้เสียชีวิตรายล่าสุดจากไวรัสเมอร์สในซาอุดีอาระเบีย เกิดขึ้น 1 วันหลังจาก องค์การอนามัยโลกประกาศจะจัดการประชุมฉุกเฉินในวันอังคาร 13 พ.ค.นี้ เพื่อหารือเรื่องการระบาดของไวรัสมรณะตัวนี้ โดยนายทาริก ยาซาเรวิช โฆษกของฮูเผยต่อผู้สื่อข่าวที่นครเจนีวาเมื่อวันศุกร์ว่า จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย แต่ไม่บอกรายละเอียดจุดมุ่งหมายของการประชุม

ทั้งนี้ ไวรัสเมอร์สถูกพบครั้งแรกในซาอุดีอาระเบียเมื่อ ก.ย. 2012 ก่อนจะมีรายงานการพบในประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, จอร์แดน, อียิปต์, เลบานอน หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา โดยผู้ป่วยในต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยเดินทางมาหรือทำงานในซาอุฯ

ไวรัส เมอร์ส อยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัส เช่นเดียวกับไวรัส 'ซาร์ส' (SARS) ที่เคยระบาดในเอเชียเมื่อปี 2003 ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 8,273 คน และเสียชีวิตเกือบ 800 ราย โดยอาการของผู้ติดเชื้อเมอร์สจะคล้ายกับซาร์ส คือมีปอดติดเชื้อ, เจ็บปวดขณะไอ, หายใจลำบาก แต่เมอร์ส ทำให้เกิดภาวะไตวายได้ด้วย จึงทำให้มันมีอัตราทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า แต่มีอัตราการติดต่อต่ำกว่าซาร์ส

ที่มา: http://www.thairath.co.th