ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. อภ. สภากาชาดไทย และศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี จับมือสำรองยากำพร้า ส่งผลช่วยชีวิตผู้ป่วยรับพิษคลอสทรีเดียม โบทูลินัม จากหน่อไม้ดอง 4 รายล่าสุด ทั้งที่ชลบุรีและชัยภูมิ เข้าถึงยา “โบทูลินัม แอนตี้ท็อกซิน” รวดเร็ว ได้รับการรักษาทันท่วงที พร้อมระบุ สปสช. ยังสำรองรายการยากำพร้าอื่นๆ อาทิ ดิพทีเรีย แอนตี้ท็อกซิน, ไซยาไนด์ แอนนี้โด๊ส และ แคลเซี่ยม ไดโซเดียม อีดีเตท เพื่อช่วยผู้ป่วยรับพิษยามฉุกเฉิน

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีสำนักระบาดวิทยา ได้รายงานการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์โรค โดยเมื่อช่วงที่ผ่านมาพบผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเชื้อคลอสทรีเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) จำนวน 4 ราย จากการรับประทานหน่อไม้รวกบรรจุถุง โดยได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดชัยภูมิ 2 ราย และโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา จ.ชลบุรี 2 ราย ว่า ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อคลอทรเดียม โบทูลินัมจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว โดยเฉพาะการได้รับ “โบทูลินัม แอนตี้ท็อกซิน” (Botulinum antitoxin) ที่จะช่วยลดความรุนแรงของอาการลงได้ เนื่องจากหลังรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโบทูลินัม ประมาณ 12–36 ชั่วโมง จะมีอาการทางระบบประสาท โดยเฉพาะกล้ามเนื้อจะเกิดภาวะอัมพาตที่เริ่มจากใบหน้าลงไปที่ไหล่ แขนส่วนบนและล่าง ต้นขาและน่องตามลำดับ รวมถึงกล้ามเนื้อกระบังลมซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

นพ.ประทีป กล่าวว่า ในอดีตด้วยโบทูลินัม แอนตี้ท็อกซิน มีราคาแพงมากและจัดอยู่ในกลุ่มยากำพร้าเพราะมีอัตราการใช้น้อยมาก ทำให้ยากต่อการเข้าถึง แต่ถือว่าเป็นยาที่จำเป็นต้องใช้เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงเล็งเห็นความสำคัญ โดยในปี 2554 ได้เห็นชอบให้มีการสำรองโบทูลินัม ท็อกซิล เพื่อใช้ช่วยผู้ป่วยในยามฉุกเฉิน พร้อมกับให้มีการวางแผนจัดระบบสำรองและจัดส่งยาที่รวดเร็ว โดยร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดหา สภากาชาดไทยให้ความร่วมมือผลิตยาบางรายการ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการหลากหลาย อาทิเช่น ศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลศิริราช และสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เป็นต้น ทำให้เกิดการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

“เหตุผลความจำเป็นที่บอร์ด สปสช. เห็นควรให้ทำการสำรองโบทูลินัม ท็อกซิลในระดับประเทศ เนื่องจากเป็นยาที่มีราคาแพง ราคาจัดซื้อปัจจุบันอยู่ที่ 156,000 บาท/ขวด ซึ่งปริมาณการใช้ยาประมาณ 2 ขวดต่อราย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย 1 ราย สูงถึง 312,000 บาท อีกทั้งไม่สามารถคาดการณ์การเกิดพิษต่อปีได้ ทำให้โรงพยาบาลมีความเสี่ยงในการสำรอง ขณะที่บริษัทผู้จำหน่ายไม่มีแรงจูงใจในการนำเข้ายา ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงยา สปสช.จึงรับหน้าที่สำรองยาดังกล่าว” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวว่า สำหรับกรณีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเชื้อคลอสทรีเดียม โบทูลินัม 4 รายล่าสุดนั้น กรณีผู้ป่วย 2 ราย ที่ จ.ชลบุรีนั้น หลังจากที่ทางโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา ได้พบอาการผู้ป่วยเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา และได้ปรึกษาอาการผู้ป่วยมายังศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยพบว่าผู้ป่วยได้บริโภคหน่อไม้ปี๊บเมื่อประมาณ 6 วันก่อนแสดงอาการ หลังจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีได้ทำการวินิจฉัยอาการและยืนยันการใช้ยาแล้ว ได้ประสานขอเบิกยาจาก สปสช.ในเวลา 11.00 น. และทางโรงพยาบาลพญาไทได้รับยาจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดีในเวลา 14:00 น. เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วย ซึ่งจากการติดตามอาการผู้ป่วยหลังรับยาพบว่าขณะนี้ผู้ป่วยมีอาการทางคลินิกดีขึ้นตามลำดับ

ส่วนกรณีผู้ป่วย 2 ราย ถัดมาที่โรงพยาบาลชัยภูมิ มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้ป่วย 2 รายแรก โดยเป็นครอบครัวที่นำหน่อไม้ปี๊บที่ก่อให้เกิดอาการพิษไปให้ผู้ป่วยที่ชลบุรี 2 รายข้างต้น ซึ่งศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้ประสานกรมควบคุมโรค เพื่อสอบสวนโรคและติดตามกลุ่มเสี่ยง ทำให้ติดตามและวินิจฉัยผู้ป่วยที่จังหวัดชัยภูมิได้อย่างรวดเร็ว และได้เบิกยามาที่ สปสช. ในวันที่ 19 เมษายน เวลา 16.00 น. ซึ่ง สปสช. ได้ประสานจัดส่งยาให้สำนักโรคติดต่อทั่วไปกรมควบคุมโรคได้ในเวลา 18.00 น. วันเดียวกัน โดยกรมควบคุมโรคได้จัดส่งยาและลงสอบสวนโรคในพื้นที่ได้ในวันที่ 20 เมษายน จากการติดตามผลพบว่าผู้ป่วยได้รับยาเรียบร้อย และขณะนี้มีอาการทางคลินิกดีขึ้นเช่นกัน

นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเชื้อคลอสทรีเดียม โบทูลินัม ทั้ง 4 ราย ได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถสำรองยาที่จำเป็นแต่มีปัญหาการเข้าถึงได้ ซึ่งในอดีตการรักษาผู้ป่วยจะต้องทำการสั่งซื้อยาจากต่างประเทศที่ต้องใช้เวลานาน บางครั้งอาจไม่ทันต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ นอกจากนี้การสำรองยานี้ไม่ได้ครอบคลุมการรักษาเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่ครอบคลุมการช่วยเหลือประชาชนในทุกสิทธิการรักษาพยาบาล นอกจากโบทูลินัม แอนตี้ท็อกซินแล้ว ยังได้สำรองยากำพร้าอื่นๆ ได้แก่ ดิพทีเรีย แอนตี้ท็อกซิน (Diphtheria antitoxin) สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคคอตีบ, ยาต้านพิษไซยาไนด์ หรือ ไซยาไนด์ แอนตี้ได๊ส (Cyanide Antidote) สำหรับรักษาอาการพิษจากสารกลุ่มไซยาไนด์ ซึ่งพบได้ในพืช เช่น มันสำปะหลังดิบ และสารเคมีที่ใช้ในครัวเรือนบางชนิด และแคลเซี่ยม ไดโซเดียม อีดีเตท(Calcium disodium edetate) สำหรับรักษาภาวะเป็นพิษจากโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว สังกะสี แมงกานีส เป็นต้น เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษในภาวะฉุกเฉิน นับเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยตรง