ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - จุฬาฯชี้ผลศึกษา'สหรัฐ-ออสซี่' ฉีดวัคซีน'เอชพีวี' ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ผลจริง คร.เล็งนำร่องเด็ก 11 ปีโรงเรียนกรุงเก่า 5 พันคน เผยองค์การอนามัยโลกแนะป้องกันได้ 60%

เมื่อวันที่ 10 เมษายน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาในผู้หญิงวัยแรงงานมากขึ้น โดยแต่ละปีมีผู้หญิงป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละประมาณ 10,000 คน หรือวันละ 27 คน เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 5,200 คน หรือวันละ 14 คน โดยกลุ่มที่พบสูงสุดคืออายุ 45-55 ปี องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า ขณะนี้ทั่วโลกในทุก 2 นาที จะมีผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 1 คน โดยสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อเอชพีวี (Human papillomaviruses: HPV) โดยพบว่าส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์มากกว่า 1 คู่ และการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น

"คร.จึงมีแนวคิดว่าต้องป้องกันในเด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์ และก่อนมีเพศสัมพันธ์ โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่มีอธิบดี คร.เป็นประธาน และมีผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนมากมาย ได้พิจารณาเห็นควรว่า ควรมีบริการวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับคนไทย โดยต้องเริ่มป้องกันตั้งแต่เด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์ คือ ช่วงอายุ 11 ปี หรือ เด็กที่ศึกษาในระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 (ป.5) จะเหมาะสมที่สุด เพราะโอกาสมีเพศสัมพันธ์ยังน้อย ประกอบกับคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดในเด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์ เพราะเป็นช่วงอายุที่ยังไม่มีการติดเชื้อ และเป็นช่วงที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่" อธิบดี คร.กล่าว

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ในเดือนเมษายนนี้คณะอนุกรรมการสร้างเสริมฯ จะประชุมพิจารณาการจัดซื้อวัคซีน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและความคุ้มทุนมากที่สุด เนื่องจากมีหลากหลายบริษัทมานำเสนอ อย่างไรก็ตาม คาดว่าประมาณช่วงเปิดภาคเรียนแรก หรือประมาณกลางปี 2557 นี้ คร.จะร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กนักเรียนชั้น ป.5 จำนวน 5,000 คน ทั่วจังหวัด หากประสบความสำเร็จจะขยายไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร.กล่าวว่า โรคมะเร็งปากมดลูกสาเหตุกว่าร้อยละ 80 มาจากเชื้อเอชพีวี ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ 16 และ 18 โดยการฉีดวัคซีนป้องกันจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อประมาณร้อยละ 60 ซึ่งหากฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่เด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงประมาณ 5,000 คนต่อปี ทั้งนี้ที่นำร่องใน จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) มีความพร้อมในการลงพื้นที่ให้บริการ และโรงเรียนต่างๆ ให้ความร่วมมือ

ต่อข้อถามกังวลหรือไม่การฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 11 ปี จะเป็นการสนับสนุนให้เด็กมีเพศสัมพันธ์โดยไม่กังวลจะเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก นพ.โอกาสกล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนมุ่งเน้นป้องกันโรค ไม่ได้ส่งเสริมให้มีเพศสัมพันธ์ คนละส่วน แต่ที่ต้องมุ่งไปที่เด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์ เพราะมีข้อมูลวิชาการ และองค์การอนามัยโลกระบุชัดว่าหากฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้จะป้องกันโรคได้ ประกอบกับการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนเป็นเรื่องง่าย สามารถเข้าไปฉีดได้ที่โรงเรียน อย่างไรก็ตาม การมุ่งเป้าไปที่เด็กอายุ 11 ปี เพราะมีผลการสำรวจอยู่เรื่อยๆ ว่า เด็กสมัยนี้มีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นอายุเฉลี่ย 12-13 ปี ดังนั้นหากฉีดวัคซีนป้องกันก็ต้องเริ่มก่อนมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งก็คืออายุ 11-12 ปี จะได้มีประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อถามว่าในการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวต้องใช้งบประมาณเท่าใด นพ.โอภาสกล่าวว่า เบื้องต้นอยู่ระหว่าง 7-9 ล้านบาท สำหรับโครงการนำร่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุ โดยกำหนดให้เข็มละไม่เกิน 500 บาท โดยจะต้องฉีด 2-3 เข็มแล้วแต่บริษัท เนื่องจากมีหลายชนิด แต่ทั้งหมดจะเน้นประสิทธิภาพและความคุ้มค่าเป็นสำคัญ

ขณะที่นายนวกัณฑ์ อุบล ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สนับสนุนโครงการนำร่องของ คร.เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องของการป้องกัน แต่อยากขอให้ทั้ง คร. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกันทำสื่อให้ความรู้เรื่องนี้ประกอบด้วย เพราะเชื่อว่ายังมีมุมมองที่ว่าหากฉีดวัคซีนนี้แล้วจะป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ 100% และจะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่คิด ซึ่งไม่ใช่ เรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก ส่วนกรณีมีเพศสัมพันธ์เร็วโดยไม่ปลอดภัย ปัญหาคืออาจติดเชื้อเอชไอวี ท้องไม่พร้อม ส่วนโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นอีกส่วน ดังนั้นต้องแยกกันให้ชัด

ส่วน นพ.นิพนธ์ เขมะเพชร อาจารย์ สาขามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากมีการใช้วัคซีนเอชพีวี อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกได้ลดลง ในปีนี้เป็นปีแรกที่มีข้อมูลแสดงว่ามะเร็งปากมดลูกลดลงอย่างเห็นได้ชัดในประเทศสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่มีการนำวัคซีนเข้ามาใช้ในปี 2549 โดยกลุ่มที่มีการลดลงของจำนวนผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัด คือ ผู้หญิงในช่วงอายุ 21-24 ปี ที่อุบัติการณ์ลดลงจาก 834 ราย เป็น 688 ราย ต่อประชากร 100,000 คน เช่นเดียวกับที่พบในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีการลดลงของโรคหูดหงอนไก่ในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 21 ปี ถึงร้อยละ 60 ในช่วงปี 2550-2554 และยังพบการลดลงของความผิดปกติการติดเชื้อของปากมดลูกที่เรียกว่า high grade ในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีถึงร้อยละ 47.5 โดยรวมคืออุบัติการณ์ลดลงจากร้อยละ 0.80 เป็นร้อยละ 0.42 ภายในระยะเวลา 3 ปี

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 12 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--