ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - ชี้ไทยเสี่ยงต่อไวรัสอีโบลาต่ำ แต่ไม่ประมาท สั่งเฝ้าระวังป้องกัน 3 มาตรการ แนะผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หากป่วยหลังเดินทางกลับ ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

จากที่มีรายงานข่าวพบเชื้อไวรัสอีโบลาระบาดในประเทศสาธารณรัฐกินี องค์การอนามัยโลก สรุปยอดผู้ป่วย ณ วันที่ 27 มีนาคม 2557 ยืนยันพบผู้ป่วย 106 ราย เสียชีวิต 66 ราย คิดเป็นอัตราตายร้อยละ 64 ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีรักษา โดยเชื้อไวรัสอีโบลาสามารถแพร่ระบาดได้จากการสัมผัสเลือด อุจจาระ หรือเหงื่อของผู้ป่วยโดยตรง หรือมีเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ โดยไม่มีการป้องกัน ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสอีโบลา และแม้ว่าไทยจะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ต่ำ แต่ก็ไม่ประมาท สธ.ได้จัดระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้ 3 มาตรการ ได้แก่ 1.ให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าจากองค์การอนามัยโลก ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศเฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรคเฉพาะ จึงต้องเฝ้าระวังและการตรวจคัดกรอง หากพบผู้ป่วยมีอาการอยู่ในข่ายสงสัยให้รายงานทันที 2.ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ และ 3.มาตรการดูแลรักษาหากมีผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายสงสัย โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอันตรายสูง เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศมีความพร้อมอยู่แล้ว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อีโบลา เป็นกลุ่มโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรงที่มีอัตราป่วยตายสูง อัตราการแพร่ระบาดสูงและเร็ว มีอัตราตายค่อนข้างสูงคือร้อยละ 50-90 เชื้อมีระยะฟักตัว 2-21 วัน อาการของผู้ป่วยคือมีไข้สูงทันที อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะมาก ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว ในรายที่รุนแรงหรือในบางรายที่เสียชีวิตจะมีอาการเลือดออกง่าย โดยมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและช็อก อวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่ ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่มีคำแนะนำห้ามเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง อย่างไรก็ดี ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดโรคชนิดนี้ หากมีอาการป่วยคล้ายอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การดูแล ป้องกันการเสียชีวิต

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า เชื้อไวรัสอีโบลา ติดต่อกันได้จากการสัมผัสเลือด อุจจาระ หรือเหงื่อของผู้ป่วยโดยตรง หรือมีเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้โดยไม่มีการป้องกัน ดังนั้นการป้องกันโรคอีโบลา ผู้ติดเชื้อโรคนี้ต้องงดมีเพศสัมพันธ์หลังการเจ็บป่วยเป็นเวลา 3 เดือน หรือจนกระทั่งตรวจไม่พบไวรัสในน้ำอสุจิ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร.0-2590-3159, 3538 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสอีโบลาเริ่มพบครั้งแรกที่ประเทศซูดานเมื่อ พ.ศ. 2519 และมีรายงานผู้ป่วยในประเทศยูกันดา เมื่อ พ.ศ. 2543 จำนวน 425 ราย เสียชีวิต 224 ราย นับเป็นการระบาดที่ใหญ่ที่สุดของโรคอีโบลา ต่อมาใน พ.ศ. 2544 มีรายงานผู้ป่วยในประเทศกาบองและประเทศสาธารณรัฐคองโก จนถึงธันวาคม พ.ศ. 2552 มีรายงานผู้ป่วยอีโบลาทั้งสิ้น 1,850 ราย เสียชีวิต 1,200 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 64 ต่อมาในปี 2553 มีรายงานการติดเชื้ออีโบลาสายพันธุ์เรสตันในสุกรในประเทศฟิลิปปินส์ ร่วมกับมีผู้ป่วย 6 ราย ซึ่งเป็นพนักงานในโรงฆ่าสัตว์ที่สัมผัสกับสุกร จึงเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการสงสัยการแพร่เชื้อจากสุกรมายังมนุษย์ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ความเชื่อนี้แต่อย่างใด

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 3 เมษายน 2557