ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาประกาศผ่านสื่อว่าสามารถเคลียร์เรื่องการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุขเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) เรียบร้อยแล้วนะ ถึงจะไม่สมบูรณ์ 100% ก็เถอะ เรื่องสวัสดิการต่างๆ ที่จะได้รับก็ว่าไปตามระเบียบที่ได้มีการตกลงกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ยังตกค้าง ยังไม่เต็มกรอบอัตรากำลังก็ได้ให้อำนาจเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขตนำเสนออัตรากำลังที่ต้องการและสอดคล้องกับภาระงาน ในที่ประชุมคณะกรรมการพกส.อีกครั้ง เพื่อขยายกรอบอัตรากำลังภายในเดือนก.พ.นี้  ขณะเดียวกันก็เตรียมตั้งคณะกรรมการบริหาร พกส. ขึ้นมา 16 คน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ้างงาน การทำงาน ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ การประเมินผลงาน โดยให้มีสัดส่วนตามตำแหน่ง 9 คน มาจากการแต่งตั้ง 7 คน ในจำนวนนี้ให้เป็นพกส. 1 คน

นายโอสถ เศวตศิลา รองประธานสมาพันธ์ลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข 

งานนี้ผู้แทนฝั่งลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนอย่างนายโอสถ เศวตศิลา รองประธานสมาพันธ์ลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาบอกหลังจากได้ยินข่าวนี้ ว่า ตัวเลขการบรรจุ พกส. ที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งประกาศออกมาว่าดำเนินการให้แล้วจำนวน 115,773 คน ยังเหลือผู้รอการจ้างอีก 24,261 คน นั้นในทางปฏิบัติยังไม่มีผลทางกฎหมาย ยังไม่ได้เริ่มจ่ายเงินจริง ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงแค่การสำรวจว่าใครอยู่ในข่ายว่าจะได้หรือไม่ได้รับการบรรจุเป็น พกส. ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่ากำหนดเดิมไปประมาณ 1 เดือน ในบางพื้นที่รู้กันแล้ว แต่บางพื้นที่ยังไม่ได้รับคำสั่งชัดเจน พูดง่ายๆ ว่ายังไม่ได้ทำสัญญาเป็น พกส.กันเลย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างในส่วนของสวัสดิการระหว่างการเป็นลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุน กับการเป็น พกส. แล้วนั้นสิ่งที่ได้รับเพิ่มเข้ามาคือ สิทธิในการหยุดการลาหยุดที่ใกล้เคียงกับพนักงานราชการ การเพิ่มสัญญาจ้างจาก 1 ปี เป็น 4 ปี ในขณะที่ค่าตอบแทนได้เพิ่มขึ้นประมาณ 300 บาท แทบจะไม่ขยับฐานตรงนี้ด้วยซ้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับสายวิชาชีพขึ้น 3,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่แตกต่างกันมาก นอกจากนี้สิทธิในการรักษาพยาบาลก็เป็นประกันสังคมเหมือนเดิม สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขพูดมาตลอดเป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น สายสนับสนุนเหมือนไม่มีคุณค่า ซึ่งต้องคอยติดตามเรื่องนี้กันต่อ

“ค่าตอบแทนยังเป็นแบบเดิมๆ เปลี่ยนเฉพาะชื่อและได้สวัสดิการมาบ้างเล็กน้อย ตอนนี้เราก็ไม่สามารถขยับอะไรได้ เพราะการเมืองยังหาข้อสรุปไม่ได้ สัญญาเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 4 ปี ซึ่งจริงๆ นัยยะของมันไม่ได้เป็นแบบนี้ แต่เนื่องจากรมว.ยังไม่มีความจริงใจพอที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ จากที่บอกว่าทุกคนจะได้เงินเพิ่ม เพราะทุกคนเป็นพนักงานของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการจ้างงานสายพันธุ์ใหม่ คือให้ทุกคนที่ได้รับการจ้างงานและผ่านการประเมินเป็นพนักงานกระทรวงทั้งหมด แต่ทำไปทำมาก็มีการบิดพลิ้ว ทำให้กลายเป็นพกส. 80% ถามว่าคนที่ทำงานมาแล้วนานแล้วทำไมถึงไม่ปรับเขาเป็นพกส. แต่ก็อ้าง กรมบัญชีกลาง อ้างสำนักงบประมาณ อ้างกพ. สารพัดอ้าง” นายโอสถ กล่าว

รองประธานสมาพันธ์ลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข ยังบอกอีกว่า ในเรื่องค่าตอบแทน อย่างน้อยๆ น่าจะมีค่าล่วงเวลาให้บ้าง ซึ่งตรงนี้หมายถึงว่าให้ทุกคนที่เป็นบุคลากรด้านสาธารณสุข อย่างเช่น การที่คนเหล่านี้ต้องมาทำงานในวันหยุดเทศกาลสำคัญๆ ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ฯลฯ ต้องมาอยู่ดูแลประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุ แต่ถามว่าเขาได้อะไรเป็นการชดเชยสิ่งที่เราเสียไปหรือไม่ ปรากฏว่าไม่เคยได้รับการเหลียวแล ตนในฐานะที่ต่อสู้เรื่องนี้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาลที่ไม่ได้หยุดเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ ก็ควรได้รับเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ อย่างน้อยในช่วงนั้นก็น่าจะจ่ายค่าแรงเป็น 2 เท่า

นายโอสถ ยังกล่าวต่อด้วยว่า ล่าสุดเรื่องการตั้งคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข จะมีการแต่งตั้งในเร็วๆ ในส่วนของที่มาของคณะกรรมการเห็นว่ามีกระบวนการคัดสรรที่ค่อนข้างแปลก โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างแทนที่จะเป็นฝ่ายลูกจ้างสรรหาตัวแทนของเขาเอง แต่กลายเป็นว่าให้เขตนำเสนอ นำเสนอเสร็จแล้ว แต่ละเขตก็ให้เหลือเขตละ 1 คน 13 เขต ก็ให้เอามาเลือก ถามว่าอย่างนี้จะทำให้ได้ตัวแทนลูกจ้างที่แท้จริงไหม ก็ไม่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม ช่วงชุลมุนของการเปลี่ยนผ่านการจ้างงานไปเป็นแบบใหม่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้แต่ละพื้นที่กลับไปประเมินศักยภาพของบรรดาลูกจ้างชั่วคราวในสังกัดของตัวเองว่ามีความเหมาะสม มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือไม่ โดยไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารท่านไหนจะระบุตรงกันว่า สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินจะจ้างงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวต่อไป แต่ในทางกลับกันพบว่ามีลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนท่านหนึ่งคือนางนวรัตน์ ผิวเรืองนนท์ เจ้าหน้าที่ธุรการโรงพยาบาลชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ถูกเลิกจ้างกะทันหันหลังไม่ผ่านการประเมินเป็น พกส. โดยทางโรงพยาบาลให้เหตุผลว่าเป็นเพราะขาดสภาพคล่อง ทั้งนี้ถ้าว่ากันด้วยเรื่องการยกเลิกสัญญาจ้างเป็นเรื่องธรรมดามาก หากแต่สิ่งที่ทำให้นางนวรัตน์ ตัดสินใจไปฟ้องร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองจังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อเดือนพ.ย. 2556 เนื่องจากพบว่าตัวเป็นเป็นเพียงคนเดียวที่ถูกเลิกจ้างในจำนวนผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินครั้งนั้น อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็เคยส่งเรื่องร้องเรียนไปยังเขต และกระทรวงสาธารณสุขแล้ว แต่ไม่มีใครให้คำตอบกลับมา

“ช่วงนี้อยู่ในช่วงการบรรจุพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการประเมิน ถือว่าอยู่ในประเด็นร้อน ผู้ที่ประเมินผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าจะจ้างต่อหรือไม่จ้าง เรื่องความเป็นธรรมก็ต้องดูแลทุกคนให้เท่าเทียมกัน แต่เราไม่ผ่าน 11 คน แต่เลิกจ้างเราคนเดียวเลยไปฟ้องศาลปกครอง เพราะเขาบอกว่าโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง มันต้องพิสูจน์กันในชั้นศาล เพราะถ้ามองในมุมมองเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติกับเราคนเดียวก็มองได้ แต่ถ้าจะมองเหตุและผลก็ต้องพิสูจน์กันในชั้นศาล เพราะท่านจะให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการส่งเอกสาร” นางนวรัตน์ กล่าว และยังบอกอีกว่า เรื่องของตัวเองเป็นกรณีศึกษาทั้งในจังหวัดอำนาจเจริญและในประเทศไทย เป็นรายแรกที่มีการฟ้องร้องอย่างนี้ รู้สึกว่าได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นกรณีตัวอย่างในการเรียกร้องสิทธิ เรียกได้ว่าเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นในการขึ้นศาล การเผชิญหน้ากันครั้งนี้

นางนวรัตน์ ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานเป็นธุรการในโรงพยาบาลที่เพิ่งจะมีคำสั่งเลิกจ้างตัวเองว่าตลอดระยะเวลาในการทำหน้าที่ธุรการมา 3 ปี 9 เดือนจนถึงวันประเมิน การทำงานในโรงพยาบาล รู้สึกมีความสุขในการเป็นลูกจ้าง มีความสุขในการทำงาน และไม่ได้มองว่ามันเป็นสิ่งเล็กน้อยในการเป็นลูกจ้างชั่วคราว แต่ลูกจ้างอย่างเธอถือเป็นส่วนเล็กๆ ในการขับเคลื่อนงานด้วยซ้ำ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นตำแหน่งใหญ่โตระดับหัวหน้า แต่ทุกคนก็มีคุณค่าในตัวเอง และสามรถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยอัตราค่าตอบแทนระดับนี้ แต่หลังถูกเลิกจ้างทำให้เดือดร้อนพอควร เพราะตอนนี้อายุก็ปาเข้าไป 37 ปีแล้ว ไปสมัครงานที่ไหนไม่ได้ สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คืออ่านหนังสือ และติดตามเรื่องการฟ้องร้องต่อไป

งานนี้เรียกได้ว่า แม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกมาตีปี๊บ ป่าวประกาศว่าได้บรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพกส.ให้แล้ว แต่เมื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นจริง สิ่งที่ลูกจ้างชั่วคราวได้มา เพียงแค่เปลี่ยนชื่อ และเพิ่มระยะเวลาสัญญาจ้างจาก 1 ปี เป็น 4 ปี พร้อมกับเงินเพิ่มอีก 300 บาท เท่ากับว่า มหากาพย์ลูกจ้างชั่วคราวก็ยังคงอยู่ต่อไป พร้อมกับสถานะของความเป็นพลเมืองชั้นสองในสถานะการจ้างงานของกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้ ที่ดูท่าทีแล้วไม่น่าจะจบลงได้ง่ายนัก