ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุขนับเป็นฟันเฟืองหลักในการดูแลและพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดีและชีวิตที่ยืนยาว ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายปฏิรูปโดยใช้แนวคิดการแบ่งเขตสุขภาพ จาก 18 เขตตรวจราชการ เป็น 12 เขตสุขภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการกระจายทรัพยากร โดยมี 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ 1.พัฒนาสุขภาพตามกลุ่มวัย 2.พัฒนาและจัดระบบบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ครอบคลุม และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ 3.พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ พร้อมมี 44 ตัวชี้วัดติดตามและประเมินผล ซึ่งการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้และทักษะในการทำวิจัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่นำข้อมูลจากการทำงานตามภารกิจของบุคลากรในระบบสุขภาพมาวิเคราะห์ วิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและเกิดประโยชน์กับผู้รับบริการมากที่สุด

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะที่เป็นองค์กรขับเคลื่อนให้เกิดความรู้เพื่อสร้างระบบสุขภาพที่สมดุลและยั่งยืน เพื่อสุขภาพดีและชีวิตที่ยืนยาว จึงลงนามความร่วมมือกับภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผอ.สวรส. ร่วมลงนามกับ ศ.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันดำเนินงานการจัดอบรมหลักสูตร “พัฒนานักวิจัยด้านนโยบายในเขตสุขภาพ รุ่นที่ 1” เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ได้มีความรู้ด้านการวิจัยเชิงระบบและนโยบาย ตลอดจนการพัฒนาระบบสุขภาพที่ตอบสนองต่อปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 12 เขตสุขภาพที่สามารถทำงานวิจัยโดยใช้ข้อมูลปัญหาในพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพของตนเองมาพัฒนาการดำเนินงานให้บรรลุผลตามตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้การอบรมโครงการพัฒนานักวิจัยในเขตสุขภาพ รุ่นที่ 1 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค. 2556 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มากไปด้วยประสบการณ์การทำงานวิจัยเชิงระบบและนโยบายสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 80 คน

ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผอ.สวรส. กล่าวย้ำว่า ระบบบริการสุขภาพที่กำลังมีการปฏิรูปโดยกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้แนวคิด “เขตสุขภาพ” มีความต้องการงานวิจัยเชิงระบบและนโยบาย เพื่อเป็นฐานรากที่สำคัญของการปฏิรูป สวรส.ในฐานะที่เป็นองค์กรวิชาการในระบบสุขภาพ จึงพร้อมที่จะสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความรู้และทักษะการวิจัยเชิงระบบและนโยบาย โดยเน้นการวิจัยที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน รวมถึงการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ซึ่งนักวิจัยในเขตสุขภาพเป็นทุนมนุษย์ของประเทศที่สำคัญ และเชื่อว่าหากทุนมนุษย์ดังกล่าวนี้ได้รับการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้เต็มศักยภาพ จะสามารถเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพดีและชีวิตที่ยืนยาวของประชาชนทุกพื้นที่ในประเทศ

ด้าน ดร.รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง วิทยากรอีกท่านที่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง หลักการเงินและการคลังสำหรับเขตสุขภาพ กล่าวว่า การดำเนินงานในรูปแบบของเขตสุขภาพ เป็นการกระจายอำนาจ กระจายการตัดสินใจออกจากส่วนกลาง สำหรับเรื่องการเงินและการคลังในเขตสุขภาพมีโจทย์หลักๆ คือ “งบประมาณที่มีอยู่น้อยหรือค่อนข้างจำกัด จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้ใช้เงินได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ” ดังนั้นแนวคิดการบริหารจัดการด้านการเงินและการคลังจึงควรเน้นไปที่การเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้หรือการสร้างรายได้เพิ่ม เช่น การประกันสุขภาพนักท่องเที่ยว/แรงงานต่างชาติ การให้บริการรูปแบบใหม่ๆ การลดรายจ่าย ใช้จ่ายอย่างเหมาะสมและได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้ทรัพยากรร่วมในเขตสุขภาพ อาทิ บุคลากร ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการมีระบบข้อมูลที่ดีทั้งด้านการเงิน บัญชีและอื่นๆ มีระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพัฒนา มีระบบการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนางาน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการบริหารการเงินและการคลังที่สามารถสร้างความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับระบบบริการสุขภาพได้ต่อไป

โดยในวันสุดท้ายของการอบรมได้มีการประกาศผลการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมที่จะได้รับทุนวิจัยจำนวน 20 ทุน ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับทุนๆ ละไม่เกิน 120,000 บาท พร้อมการพัฒนาศักยภาพการเป็นนักวิจัยเขตสุขภาพในระยะต่อไป โดยในเดือน ม.ค. 2557 จะมีการอบรมเชิงปฏิบัติการรอบที่ 2 ให้กับผู้ที่ได้รับทุนวิจัย เพื่อพัฒนาโครงร่างงานวิจัยให้สมบูรณ์ สามารถตอบโจทย์การพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่แต่ละเขตสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมทักษะการทำวิจัยที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น