สำนักข่าวสร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปัจจุบันสังคมไทยมีชีวิตกันอย่างรีบเร่ง โดยเฉพาะสังคมเมือง ที่ชีวิตประจำวันแทบจะเรียกได้ว่าทำทุกอย่างแข่งกับเวลา ไม่ว่าจะเรื่องของการทำงาน หรือการกินอยู่ จึงเป็นเหตุผลของคนส่วนใหญ่อาศัยเป็นข้ออ้างในการละเลยดูแลสุขภาพ ทั้งการพักผ่อน ออกกำลังกาย หรือแม้แต่อาหารการกิน
เมื่อเร็วๆนี้ สสส.จับมือ สวรส. เปิดผลสำรวจสุขภาพคนไทย พบดัชนีมวลกายเพิ่ม เสี่ยงเป็นเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง เหตุออกกำลังกินผักน้อยแค่ 18% พร้อมเดินหน้าโครงการสำรวจสุขภาพคนไทย ครั้งที่ 5 ทั่วประเทศ ค้นหาปัจจัยเสี่ยง หวังต่อยอดนโยบายสุขภาพของชาติ
โดย นพ.วิชัย เอกพลากร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนักวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารสุข กล่าวว่า
"การสำรวจจะสะท้อนปัญหาสุขภาพของไทยในปี 56-57 เพื่อนำมาเปรียบกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านๆมา ว่ามีทิศทางดีขึ้นหรือแย่ลง เพราะสุขภาพประชาชนมีแนวโน้มเหมือนกันทั่วโลก คือเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง เบาหวาน และความดัน เนื่องมาจากการออกกำลังกายที่น้อยลงและไม่ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารจึงขอความร่วมมือประชาชนในการให้ข้อมูลทางสุขภาพกับเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตามบ้านและชุมชน เพื่อสุ่มหากลุ่มตัวอย่าง โดยผู้ถูกสุ่มสามารถขอตรวจสอบบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ได้ เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่ถูกหลอกลวง" นพ.วิชัย กล่าว
ขณะที่ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวว่า การสำรวจจำแนกตามช่วงอายุ แบ่งเป็น 5 ช่วงอายุ ดังนี้ 1. อายุ 1-5 ปี ทดสอบพัฒนาการ ตรวจปัสสาวะ และดูปริมาณไอโอดีน เป็นต้น 2.อายุ 6-9 ปี ทดสอบพัฒนาการ ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น 3. อายุ 10-19 ปี วัดความดันโลหิต เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด การทำงานของไต 4.อายุ 20-59 ปี เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะเลือดจาง เป็นต้น และ 5 อายุ 60 ปีขึ้นไป เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะเลือดจาง
โดยผู้มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จะมีการตรวจสอบการเดิน (walk test) การมองระยะใกล้ (Near vision Test) ทดสอบทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และคัดกรองภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย ทั้งนี้ เด็กและผู้ใหญ่มีปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน โดยวัยเด็กจะเน้นการสำรวจเรื่องพัฒนาการและทักษะการเรียนรู้ ส่วนวัยผู้ใหญ่ จะเน้นพฤติกรรมการออกกำลังกาย การดื่มสุรา และอนามัย เจริญพันธุ์ แต่ในทุกช่วงอายุจะเน้นการสำรวจเรื่องโภชนาการ ว่ามีการบริโภคที่เหมาะสมหรือไม่
"การสำรวจครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา พบว่าคนไทยกินผักประมาณร้อยละ 18 เท่านั้น และยังพบว่า คนไทยเพศชาย และเพศหญิง มีเส้นรอบเอวและค่าดัชนีมวลกายเกินค่ามาตรฐาน อีกตั้งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และคอเลสเตอรอล มาก่อน ดังนั้น ถือเป็นโอกาสที่กลุ่มตัวอย่างที่นับการตรวจสุขภาพ จะได้ทราบข้อมูลสุขภาพตัวเอง" นพ.สุวัฒน์ กล่าว
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว คนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน อย่าลืมบริหารเวลาและใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด เพื่อการดูแลสุขภาพ เลือกกินให้ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามกีฬา วันที่ 3 ธันวาคม 2556
- 5 views