ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ - สภาการพยาบาลเร่งดันแผนผลิตคนรับมือเมดิคัลฮับ พร้อมสกัดพยาบาลอาเซียนผิดกฎหมาย

น.ส.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล เปิดเผยว่า สภาจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้ผลิตบุคลากรวิชาชีพพยาบาลทุกกลุ่ม ทั้งบัณฑิตใหม่ อาจารย์และพยาบาลเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้สอดรับกับแผนลงทุนพัฒนาระบบบริการสุขภาพรายสาขาในระดับประเทศปี 2558-2560 ของกระทรวงสาธารณสุข รองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (เมดิคัลฮับ)และลดภาระงานของพยาบาลวิชาชีพในปัจจุบัน

"พยาบาลในประเทศอื่นส่วนใหญ่ทำงานเป็นกะ กะละประมาณ 8 ชั่วโมงพยาบาลในมาเลเซีย บรูไน จะได้หยุดสัปดาห์ละ 2 วัน แต่ละเดือนทำงานเฉลี่ย22-25 กะต่อเดือน ขณะที่พยาบาลไทยมีค่าเฉลี่ยการทำงาน 31 กะต่อเดือน หมายความว่าพยาบาลของเราไม่เคยได้หยุดแม้แต่วันเดียว" น.ส.วิจิตร กล่าว

นอกจากนี้ พยาบาลในสิงคโปร์มีรายได้มากกว่าพยาบาลไทยถึง 4 เท่า โดยไม่ต้องทำงานหนักเท่าพยาบาลไทย

ทั้งนี้ อาจารย์ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งที่ต้องผลิตเพิ่ม เนื่องจากในอีก10 ปีข้างหน้า จะมีอาจารย์ด้านพยาบาลเกษียณกว่า 1,000 คน จากทั้งหมด 4,417 คน หากเกิดปัญหาขาดแคลนจะส่งผลต่อการผลิตพยาบาลวิชาชีพตามไปด้วยดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการผลิตบุคลากร จำเป็นต้องเร่งผลิตอาจารย์พยาบาลเพิ่มอีก 2,096 คน

ขณะที่กลุ่มพยาบาลเชี่ยวชาญเฉพาะทาง สถาบันการศึกษาต่างๆ ใน 12 เขตพื้นที่บริการสุขภาพทั่วประเทศ จะผลิตบุคลากรผ่านหลักสูตรอบรมประกาศนียบัตรระยะสั้นสาขาต่างๆ เช่น หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง อุบัติเหตุ ทารกแรกเกิด จิตเวช ให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่นั้นๆ โดยมีจำนวนการผลิตตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

สำหรับการเพิ่มจำนวนบัณฑิตพยาบาลนั้น สภาได้รับอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรีให้ผลิตพยาบาลเพิ่มได้ปีละ 2,500 คน ต่อเนื่อง4 ปี คาดว่าจะช่วยรับมือสถานการณ์ในวิชาชีพได้

น.ส.วิจิตร กล่าวอีกว่า กรณีที่มีพยาบาลอาเซียนเริ่มเข้ามาทำงานในไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวฟิลิปปินส์เข้ามาทำงานในฐานะล่าม คอยดูแลคนไข้ชาวต่างชาติในโรงพยาบาลเอกชน โดยสภายังไม่สามารถประเมินว่ามีจำนวนเท่าใดอย่างไรก็ตามการเข้ามาของพยาบาลฟิลิปปินส์สะท้อนว่าพยาบาลไทยยังมีจุดอ่อนเรื่องภาษาอังกฤษด้วย

ทั้งนี้ สภาได้แจ้งโรงพยาบาลเอกชนให้ดำเนินการจัดจ้างพยาบาลอย่างถูกต้อง ไม่นำเข้าพยาบาลที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนไม่นำเข้าจากประเทศที่มีจำนวนพยาบาลไม่เพียงพอรองรับคนไข้ในประเทศอยู่แล้วเช่น พม่า ลาว กัมพูชา เนื่องจากถือเป็นจริยธรรมวิชาชีพ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556