Hfocus -เราอาจเคยได้ยินเรื่องการผ่าตัดของหมอบรัดเลย์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่อาจนับการผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในยุครัตนโกสินทร์ซึ่งอาจจะหาโอกาสพูดถึงต่อไป แต่ที่จริงแล้วเรื่องราวของการศัลยกรรมปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แม้การรักษาโดยการผ่าหรือตัดอวัยวะเป็นการรักษาที่ไม่ปรากฏในระบบการแพทย์ไทยแต่เดิมอย่างน้อยก็นับตั้งแต่ในสมัยอยุธยาเป็นต้นมา

ภาพผู้คนและบ้านเรือนของอยุธยาในหนังสือของลาลูแบร์ 

ซิมอง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubere) เอกอัครราชทูตแห่งราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเดินทางเข้ามาในอาณาจักรอยุธยาครั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพำนักอยู่ในพระนครศรีอยุธยานาน 3 เดือน 6 วัน ระหว่างวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) - 3 มกราคม พ.ศ. (ค.ศ. 1688) ได้บันทึกเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์ของสยามในเวลานั้นไว้ โดยเขาเห็นว่า การแพทย์ไทยในเวลานั้นไว้หลายเรื่อง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการรักษาแบบตะวันตกที่เขาคุ้นเคย ดูเหมือนว่าการแพทย์ของสยามจะด้อยกว่ามาก เนื่องเพราะแพทย์ไทยไม่มีความรู้เรื่องศัลยกรรมและกายวิภาค ไม่มีความรู้ในเรื่องวิชาเคมี เชื่อถือโชคลางและไสยศาสตร์ เฉพาะในด้านการศัลยกรรมนั้นเขาบอกว่า

“…ชาวสยามไม่รู้จักวิชาศัลยกรรม ต้องพึ่งแพทย์ชาวยุโรปในการเจาะกระดูก โดยเฉพาะการเจาะกะโหลกศรีษะ การผ่าตัดต่างๆ การสูบโลหิตที่เป็นพิษออกมา ไม่สนใจที่จะเรียนรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์ ไม่สนใจผ่าสัตว์ หรือศพคนตาย…”

โกลด เดอ ฟอร์แบ็ง (Claude de Forbin) หรือ เชอร์วาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง (Chevalier de Forbin)

ก่อนหน้าการบันทึกของลาลูแบร์นั้น มีเหตุการณ์ที่มีการบันทึกถึงการศัลยกรรมของชาวตะวันตกเอาไว้ในสมัยเดียวกันซึ่งอาจเป็นการผ่าตัดครั้งแรกในอยุธยาหรืออาจจะเป็นครั้งแรกในดินแดนสยามประเทศ เมื่อ โกลด เดอ ฟอร์แบ็ง (Claude de Forbin) หรือ เชอร์วาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง (Chevalier de Forbin) ที่เดินทางเข้ามาพร้อมกับคณะทูตฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) ถูกสมเด็จพระนารายณ์ฯ ขอตัวไว้รับราชการ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ออกพระศักดิสงคราม เขาถูกส่งไปเฝ้าป้อมอยู่ที่เมืองบางกอก โดยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองบางกอก พวกแขกมักกะสันที่คิดก่อการกบฏในกรุงศรีอยุธยา ได้ล่องเรือหลบหนีการจับกุมลงมาตามแม่น้ำ แต่ถูกสกัดไว้ที่เมืองบางกอก ในการรบ ทหารและประชาชนสยามถูกกบฏฆ่าตายเป็นอันมาก ในจำนวนนั้นมีทหารฝรั่งเศส ชื่อ โบเรอะคาร์ท ถูกแทงที่ท้องลำไส้ทะลักออกมา ฟอร์บังจึงใช้ไหมมาสนเข็มสองเล่ม ยกไส้และกระเพาะอาหารเข้าไปที่เดิมในท้อง แล้วเย็บแผล และขมวดให้ติดกัน เอาไข่ขาวตีแล้วเอาเหล้ารัค (Raque) ซึ่งเป็นเหล้า “โอเดอวี” (Eau de vie) ชนิดหนึ่งมาผสมแล้วชะล้างคนเจ็บ ล้างแผลอยู่ราว ๑๐ วัน โบเรอะคาร์ท จึงพ้นขีดอันตรายและหายเป็นปกติ 

คณะราชทูตไทยของนำโดยออกญาโกษาธิบดี (ปาน) เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

นอกจากนี้แล้วบันทึกของลาลูแบร์ยังได้กล่าวถึงการที่ราชสำนักอยุธยา นำเอาศัลยแพทย์ชาวตะวันตกเข้าไปเป็นแพทย์ประจำพระองค์ด้วย โดยอ้างว่าแพทย์ผู้นั้นเป็นครูสอนคริสต์ศาสนาพร้อมกันด้วย ชื่อว่าโปมาร์ต (Paumart) ในขณะที่มีผู้ศึกษาเอกสารของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัทช์ (VOC- Vereenigde Oostindische Compagnie) และพบว่ามีการอ้างถึง ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า ดาเนียล โบรเชอบอร์ด (Daniel Brochebourde) ซี่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทได้ถูกยืมตัวมาเป็นศัลยแพทย์ประจำราชสำนักชองสมเด็จพระนารายณ์ฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2215 (ค.ศ. 1672) โดยรับเงินเดือนจาก VOC ซึ่งเขาได้รับราชการเรื่อยมาจนมาถึงรัชสมัยพระเพทราชา และสิ้นชีวิตลงใน พ.ศ. 2240 (ค.ศ. 1697) โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ ออกพระแพทยโอสถ ดาเนียลแต่งงานกับหญิงชาวนครศรีธรรมราช และมีลูกคนหนึ่งชื่อว่า โมเสส โบรเชอบอร์ด (Moses Brocheboude) ซึ่งต่อมาได้รับราชการเป็นศัลยแพทย์ในราชสำนักของพระเพทราชาสืบจากบิดา โดยได้รับตำแหน่งที่ “ออกหลวงศรีสิทธิแพทย์” และเลื่อนตำแหน่งเป็น “ออกพระแพทยโอสถ” เมื่อบิดาของเขาได้ถึงแก่กรรม

โมเสสได้แต่งงานกับหญิงชาวมอญและมีบุตร ๒ คน คือ เยเรเมียส โบรเชอบอร์ด (Jeremias Brochebourde) และ ฟิเลมอน โบรเชอบอร์ด (Philemon Brochebourde) โมเสสได้ถึงแก่กรรมในรัชสมัยของพระเจ้าท้ายสระ ในปี พ.ศ. 2267 (ค.ศ. 1724) ต่อมา เยเรเมียสได้รับราชการในตำแหน่งแพทย์ประจำพระองค์สืบต่อจากบิดา สันนิษฐานว่า ดาเนียล หรือ ออกพระแพทยโอสถ น่าจะเป็นคนเดียวกับ พระโอสถฝรั่ง ซึ่งร่วมแต่งตำราแพทย์ถวายพระนารายณ์ (ตำราพระโอสถพระนารายณ์) ส่วน เมสี หมอฝรั่ง ที่ปรากฏในตำราพระโอสถพระนารายณ์ อาจจะเป็นโมเสสก็เป็นได้ 

สัญญาไทย - ฝรั่งเศส ครั้งสมเด็จพระนารายณ์

แม้จะมีความแตกต่างระหว่างกันของความรู้ทางการแพทย์ของตะวันตกกับการแพทย์ไทยในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่การเข้ามาของแพทย์และความรู้ของการแพทย์ตะวันตกในสมัยนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบมากมายต่อระบบการแพทย์ไทยแต่เดิม เนื่องจากในสมัยนั้นความรู้และประสิทธิภาพของทั้งสองระบบการแพทย์ไม่ได้มีความแตกต่างกันเท่าไหร่ ทำให้การอยู่ร่วมกันของระบบการแพทย์ที่แตกต่างกันในราชสำนักสยามจึงเป็นไปได้ จนมาถึงการเข้ามาระลอกใหม่ของการแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่ที่ใช้ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เป็นฐานในช่วงคริสต์สตวรรษที่ 19 และ  20 กลับส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อการแพทย์ไทยแบบเดิมจนกลายเป็นแหล่งที่มาปัญหาหลายๆ อย่างของการแพทย์แผนไทยประการมาจนทุกวันนี้ 

ผู้เขียน : นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย