ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อสหรัฐเกิดวิกฤติกฎหมายร่างงบประมาณ พ.ศ.2557 ไม่ผ่านสภาเมื่อวันที่ 30 กันยายน  ทำให้หน่วยงานราชการจำนวนมากต้อง ปิดทำการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา  และข้าราชการ 800,000 คนต้องหยุดงาน และไม่ได้รับเงินเดือนจนกว่าครองเกรสจะแก้ไขวิกฤติให้ร่างกฎหมายงบประมาณ ผ่านออกมาใช้ได้  ประเด็นปัญหาที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน คืองบประมาณรายจ่ายที่โป่งขึ้นสำหรับการสนับสนุนแผนประกันสุขภาพหรือที่เรียกว่า "โอบามาแคร์" และพรรครีพับรีกันต้องการให้ชะลอ การเริ่มโครงการของโอบามาแคร์ไปก่อน

อเมริกามีการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทันสมัยที่สุดในโลก แต่อเมริกาก็มีประชากรกว่า 40 ล้านคนที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ รัฐบาลที่ผ่านๆ มา ไม่กล้าที่จะนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ เพราะปัญหาเรื่องภาระงบประมาณจำนวนมากที่รัฐบาลจะต้องแบกรับ เมื่อยี่สิบปีก่อนายบิล คลินตัน หาเสียงในการลงแข่งประธานาธิบดีว่าหากได้รับเลือก จะนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ เมื่อได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว  เขาก็ผลักดันนโยบายดังกล่าวไม่สำเร็จ

ขอปูพื้นเพื่อให้สามารถเข้าใจว่า โอบามาแคร์เกี่ยวอะไรกับนโยบายหลักประกันสุขภาพและ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ของไทยอย่างไร

เมื่อ พ.ศ.2538 กระทรวงการคลัง รัฐบาลท่านนายกบรรหาร ศิลปอาชา ได้ริเริ่มและมีการร่างนโยบายการเงินการคลังเพื่อสังคมขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการสาธารณสุข มีสองประเด็นคือ เรื่องหลักประกันสุขภาพ และ การตั้งองค์กรเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

ด้วยตรรกะที่ว่า หากประเทศไทยจะให้มีหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยทุกคน จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล รัฐบาลจึงต้องมีกลไกที่จะป้องกันและส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี เพื่อลดจำนวนคนที่จะป่วย โดยเฉพาะด้วยโรคที่ป้องกันได้ให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งจะลดภาระงบประมาณของนโยบายหลักประกันสุขภาพ

และจากกรอบคิดดังกล่าว คณะทำงานสองชุดได้ถูกแต่งตั้งขึ้น อันได้แก่ คณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องหลักประกันสุขภาพ และคณะทำงานเพื่อจัดตั้งองค์กรส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง สสส. ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2545 หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ด้วยสโลแกน "สร้างนำซ่อม"

การสร้างนำซ่อมนั้น หากดูในเรื่องของคุณภาพชีวิต ถ้าโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นแล้ว  ต่อให้ซ่อมเก่งอย่างไร การแพทย์ดีเพียงไหน  มีเงินเท่าไหร่ ก็จะซ่อมไม่ได้เหมือนเดิม

หากดูด้านการลงทุน การสร้างสุขภาพใช้เงินน้อยกว่าการซ่อมสุขภาพอย่างเทียบกันไม่ได้ ดูจากงบประมาณของสสส.  สามพันกว่าล้านบาทต่อปี เทียบกับงบประมาณสามแสนกว่าล้านบาท ของงบประมาณรักษาสุขภาพทุกหน่วยงานรวมกัน นั่นคืองบประมาณของ สสส.เท่ากับประมาณร้อยละหนึ่งของงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศในแต่ละปี

สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับว่าเราได้ทำสิ่งที่ล้ำหน้าประเทศสหรัฐอเมริกาถึงยี่สิบปีก็ว่าได้ โดยประธานาธิบดีโอบามาเพิ่งตั้งสภาป้องกันโรคส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุขแห่งชาติ (National Prevention Health Promotion and Public health Council) ในปี พ.ศ.2553 ซึ่งมีพันธกิจที่คล้ายคลึงกับ สสส.ของไทย ก่อนที่จะเสนอให้ครองเกรส เห็นชอบและริเริ่มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนเกิดวิกฤติร่างกฎหมายงบประมาณเมื่อ  1 ตุลาคมที่ผ่านมา

อเมริกาเพิ่งจะยอมรับว่า ที่ผ่านมาระบบสุขภาพของเขาเน้นที่ดูแลคนที่ป่วยแล้ว มากกว่าเน้นที่จะป้องกันคนไม่ให้ป่วย ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในปี พ.ศ.2554 เท่ากับ 17.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม เทียบกับประเทศไทยที่ใช้ 4.1% อเมริกาใช้เงิน 258,240 บาท ต่อหัวประชากรต่อปี เพื่อการรักษาสุขภาพ เทียบกับ 10,590 บาทต่อหัวประชากรที่ประเทศไทยใช้ อเมริกาจึงต้องหันมาป้องกัน ส่งเสริมไม่ให้คนป่วย โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลต้องการให้คนอเมริกันทุกคนได้รับการรักษาพยาบาลด้วยงบประมาณของรัฐ การป้องกันโรคส่งเสริมหรือที่เรียกว่าสร้างเสริมสุขภาพก็ยิ่งมีความสำคัญและจำเป็นแม้ว่าประชาชนจะต้องร่วมจ่ายด้วยก็ตาม

ขณะนี้กระแสการตื่นตัวเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ เกิดขึ้นทั่วโลกหลังจากที่นานาชาติประสบปัญหาค่าใช้จ่ายการรักษาโรคที่เพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร และเห็นความสำเร็จของนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรคในการรักษาคนที่ป่วยแล้วและบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพโดย สสส.ของไทยที่เป็นนโยบายควบคู่กัน

ประเทศที่ตั้งองค์กรและกองทุนเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพตามอย่าง สสส.ของไทย มีตั้งแต่มาเลเซีย มองโกเลีย ตองกา เกาหลีใต้ เวียดนาม ลาว และที่กฎหมายกำลังจะผ่านออกมาบังคับใช้ได้แก่ ซามัว โซโลมอน ไอซ์แลนด์ และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศที่อยู่ในระหว่างการผลักดันกองทุนลักษณะนี้ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้

ทั้งนี้ประเทศที่ตั้งองค์กรลักษณะ สสส.ก่อนประเทศไทยได้แก่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และออสเตรีย ผู้เขียนได้เคยถามผู้ที่รับผิดชอบในประเทศต่างๆ ถึงเหตุผลในการผลักดันให้เกิดองค์กรลักษณะ สสส. ตามหลังประเทศไทย ได้รับคำตอบว่า แต่เดิมนั้นเขาคิดว่าองค์กรสร้างเสริมสุขภาพลักษณะ สสส. เป็นเรื่องของประเทศที่ร่ำรวยแล้ว เช่น ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ หรือออสเตรียเท่านั้น แต่เมื่อเห็นประเทศไทยตั้ง และเห็นผลงาน สสส.ไทย จึงคิดว่าเขาต้องผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศของเขาบ้าง เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างที่ประเทศไทยได้รับ

นโยบายหลักประกันสุขภาพและการสร้างเสริมสุขภาพของไทย จึงเป็นระบบสุขภาพ ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยอมรับและเป็นแบบอย่างในการนำไปปฏิบัติ รวมถึงมหาอำนาจอย่างสหรัฐ

'นโยบายหลักประกันสุขภาพ ของไทย เป็น ระบบสุขภาพ  ที่ประเทศต่างๆ 'ยอมรับและเป็นแบบอย่างการนำไปปฏิบัติ รวมถึงมหาอำนาจอย่างสหรัฐ'

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 22  ตุลาคม 2556