ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ -ผู้ประกันตนเฮ สปส.ไฟเขียวเพิ่มสิทธิมะเร็งอีก 3 รายการ มีผลบังคับใช้ทันที  ไฟเขียวยกระดับอุปกรณ์โรคหัวใจ

สำนักงานประกันสังคม (สปส.)ประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านมะเร็งให้กับผู้ประกันตน จากเดิมที่กำหนดวิธีการจ่ายแบบพิเศษตามจริงเท่าที่จำเป็น 7 ชนิดเพิ่มขึ้นอีก 3 ชนิด เป็น 10 ชนิด ซึ่งจะส่งผลให้แพทย์ในโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยมะเร็งทั้ง 10 ชนิดนี้ ตัดสินใจจ่ายยาราคาแพง รวมถึงวิธีการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงแก่ผู้ป่วยได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่มีคุณภาพขึ้น

สำหรับการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 30 ส.ค. 2556

ทั้งนี้ ประกอบด้วย มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและที่เพิ่มใหม่อีก 3 ชนิด คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งต่อมลูกหมาก

แหล่งข่าวจาก สปส. กล่าวว่า ที่ผ่านมาถ้าเป็นโรคมะเร็งที่มีค่ายาหรือค่าเคมีบำบัดแพง แพทย์ก็อาจตัดสินใจให้การรักษาช้าแต่เมื่อแยกมะเร็งที่มีค่าใช้จ่ายสูงออกมาให้ชัดเจนแล้ว สปส.จ่ายค่ายาเพิ่มเติมให้ทางโรงพยาบาลนอกเหนือจากค่าเหมาจ่ายรายหัว ก็จะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาและการรักษาได้สะดวกขึ้นด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการการแพทย์ สปส.เตรียมประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติกับโรงพยาบาลที่ทำสัญญาให้บริการผู้ประกันตนในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการการแพทย์ สปส. ยังได้ปรับปรุงรายการอัตราค่าอวัยวะเทียม (เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ) ราคาชุดละ 2 แสนบาท แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีข้อบ่งชี้ดังนี้ 1.หัวใจหยุดเต้นจาก ventricular fibrillation หรือventricular tachycardia ที่ไม่ได้เกิดจากภาวะที่แก้ไขได้ 2.ventricular tachycardia ที่เกิดขึ้นเองอยู่นานๆ ที่สัมพันธ์กับโรคหัวใจ 3.การหมดสติที่ไม่สามารถหาสาเหตุ

ร่วมกับการกระตุ้นให้เกิด ventricular fibrillation หรือ ventricular tachycardia ที่มีผลต่อภาวะไหลเวียนจากโปรแกรมไฟฟ้าหัวใจ และการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล

4.การเกิด ventricular tachycardia ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด 5.การเกิดventricular tachycardia ขึ้นเอง ในผู้ป่วยที่ไม่พบโรคหัวใจและไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น6.ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหัวใจขาดเลือดมาแล้วอย่างน้อย 40 วัน ร่วมกับการพบการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายลดลงอย่างรุนแรง

7.ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่ไม่ทราบสาเหตุร่วมกับการพบการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายลดลงอย่างรุนแรงและ 8.ผู้ป่วยโรค long QT syndrome,brugada syndrome โรคกล้ามเนื้อหัวใจขนิดหนาตัวผิดปกติ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 11  กันยายน 2556