ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข่าวดี! สำหรับข้าราชการ และพนักงานท้องถิ่นที่จะได้รับบริการหลักประกันสุขภาพเทียบเท่าสิทธิข้าราชการอื่นๆ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเหมือนที่ผ่านมา...

เนื่องจากเดิมทีภาระค่ารักษาพยาบาลตกอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งจะจัดสรรเงินบางส่วนสำหรับช่วยเหลือข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่นกรณีที่เจ็บป่วย แต่ปัญหา คือ อปท.บางแห่งได้รับงบประมาณน้อย การจ่ายค่ารักษาพยาบาลอาจไม่ครบถ้วน ที่สำคัญข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่นบางรายที่เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือมีโรคค่าใช้จ่ายสูงจะมีผลกระทบมาก เพราะจากการจ่ายไปก่อน ย่อมกระทบต่อตนเองและครอบครัว

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หารือร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว และได้มีการบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู (MOU) ร่วมกันระหว่าง สปสช. กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการการกระจาย อำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาพันธ์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 จึงกลายเป็นความหวังของข้าราชการ และพนักงานส่วนท้องถิ่นกว่า 537,692 คน ที่กระจาย อยู่ใน อปท. 7,900 แห่งทั่วประเทศ เพราะจะมี "กองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วน ท้องถิ่นและครอบครัว" เป็นครั้งแรก

แม้นโยบายจะเป็นเรื่องดี แต่งานนี้อดวิตกไม่ได้ว่า กองทุนดังกล่าวอาจสะดุด เพราะล่าสุด นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการและพนักงานจ้างท้องถิ่นแห่งประเทศไทย แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของงบประมาณที่อาจส่งผลต่อกองทุน เนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สามารถอุดหนุนงบประมาณได้ไม่ถึง 7,500 ล้านบาท ตามเงื่อนไขที่ สปสช.กำหนดในการลงนามเอ็มโอยู ทำให้กังวลว่า สปสช.จะไม่เดินหน้าเรื่องนี้

สาเหตุมาจาก ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกระจายให้องค์กรปกครองท้องถิ่นได้มีมติให้จัดสรรงบทั่วไปในปีงบประมาณ 2557 จำนวน 3,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน สปสช. และมีการจัดสรรงบประมาณที่ อปท.สมทบอีก 460 ล้านบาท รวม 4,061 ล้านบาท แต่งบดังกล่าวไม่เพียงพอ เนื่องจาก สปสช.ได้ตั้งวงเงินไว้ที่ 7,500 ล้านบาท ในการบริหารกองทุน โดยข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นจะได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลเทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือน สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่ง สปสช.จะจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลต่อหัวเท่ากับ 12,000 บาท แต่หากได้งบไม่ตามวงเงินก็ไม่สามารถดำเนินการได้

ด้าน นายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กลับกังวลอีกประเด็น เนื่องจากเห็นว่าการตั้งกองทุนดังกล่าว ไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่อยู่ที่การบริหารจัดการมากกว่า ซึ่งตนไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็น สปสช.มา บริหารระบบ ใครก็ได้มาดูแล สิ่งสำคัญคือ ต้องมี ความชำนาญและต้องมีความโปร่งใส ซึ่งการตั้งกองทุนดังกล่าวจะมีงบประมาณจำนวนมาก สิ่งสำคัญต้องมีระบบตรวจสอบความโปร่งใสด้วย ซึ่งที่ผ่านมา กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้

"หลายคนกังวลในเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ในกองทุนว่า อาจไม่เพียงพอ เนื่องจาก สปสช.ตั้งงบฯ ไว้กว่า 7,000 ล้านบาท แต่กลับได้ไม่ถึง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การให้งบประมาณไม่จำเป็นต้องให้เป็นก้อนใหญ่ จึงอย่าไปวิตก อย่างไรเสียกองทุนนี้ก็ต้องเดินหน้าอยู่แล้ว" นายเชื้อกล่าว

ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ให้ความมั่นใจว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 กองทุนดังกล่าวเดินหน้าแน่นอน ส่วนปัญหาเรื่องงบประมาณที่ยังไม่ลงตัวนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข โดยได้มีการหารือกับทางคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง ของคณะกรรมการกระจายอำนาจ ซึ่งจะมีการศึกษาและหาทางนำงบส่วนต่างราว 4,000 ล้านบาท มาสมทบตามกรอบวงเงิน โดยจะมีการประชุมในเดือนกรกฎาคมนี้

"ในส่วน สปสช.อยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลของข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นทั้งหมดใหม่ว่า มีจำนวนเท่าใด และสามารถใช้สิทธิอย่างไรบ้าง เบื้องต้น เก็บข้อมูลจาก อปท.ทั่วประเทศได้ประมาณ 5,000 แห่ง จาก 7,900 แห่งทั่วประเทศ หรือประมาณ 340,000 คน คาดว่าในเดือนกรกฎาคมจะเก็บข้อมูลได้สมบูรณ์ จากนั้นจะทดสอบระบบทั้งหมดในเดือนสิงหาคมและกันยายน ก่อนประกาศใช้กองทุนอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป" นพ.วินัยกล่าว

ส่วนประเด็นกฎหมายรองรับนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข ตาม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ส่วน สถ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมเชิญตัวแทนสมาคมผู้บริหารและข้าราชการท้องถิ่น 13 องค์กร เข้าร่วมประชุมในวันที่ 2 กรกฎาคม เพื่อหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหางบประมาณดังกล่าว

มาลุ้นกัน 1 ตุลาฯ นี้...

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcat_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 1 กรกฎาคม 2556