แพทย์ชนบท...เป็นกลุ่มแพทย์มีปัญหาจากระบบจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ P4P และยังลุกลามบานปลายกลายเป็นเส้นแบ่งระหว่างแพทย์ด้วยกันเอง

นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา บอกว่า ในฐานะศิษย์เก่าศิริราช ขอแสดงความดีใจที่นานๆครั้ง คณบดีแสดงความห่วงใยลูกศิษย์ที่มีปัญหาคับข้องใจในการทำงานในชนบท ที่ขัดแย้งกับนักการเมือง ถึงแม้นักการเมืองคนนี้จะเป็นศิษย์เก่าศิริราชเช่นเดียวกันก็ตาม

เท่าที่ทราบข้อมูลจากเพื่อนฝูง พี่น้อง ที่อยู่ศิริราช ตามที่ท่านคณบดีให้ความเห็นในประเด็นการทำ P4P ในกระทรวงสาธารณสุขนั้น ต่างกับการทำที่โรงพยาบาลศิริราชโดยสิ้นเชิง และไม่ต่างอะไรกับการจ่ายแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่ใช้ใน รพ.ชุมชนเลย

เดี๋ยวสังคมจะสับสน...ที่ศิริราชจ่ายแบบเหมาจ่าย แต่จัดระดับความยากง่ายของงานแต่ละแผนกเฉพาะกลุ่มการพยาบาล ไม่ใช่การจดแต้มแบบ P4P

นายแพทย์วชิระให้ทัศนะว่า โรงพยาบาลศิริราชก็ขาดแคลนบุคลากรระดับรุนแรง ต้องลดเตียง จาก 2,900 เตียง...เหลือ 2,500 เตียง เนื่องจากการลาออกของพยาบาล ไปอยู่ภาคเอกชน เพราะภายหลังเอกชนเติบโตมาก ประกอบกับลาออกจากอาชีพเพราะเหนื่อยยากลำบากจากการทำงาน

พยาบาลศิริราช...มีการจ่ายเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจแบบไม่ซับซ้อน เหมือนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในโรงพยาบาลชุมชนโดยมีการจัดระดับพยาบาลเพียง 3 ระดับ...1...2...3 มีการจ่ายเพิ่มเติมเหมือนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายต่อเดือน ใน 3 อัตรา

เริ่มจาก 1,000 บาทต่อเดือนต่อคน ไปจนถึง 2,000 บาทต่อเดือนต่อคน เหมือนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของโรงพยาบาลชุมชน

เป้าหมายเพื่อดึงคนไว้ใช้ในระบบ ไม่ต้องให้พยาบาลทุกคนจดบันทึกแต้มเหมือนกระทรวงสาธารณสุข เช่น พลิกตัวคนไข้ได้ 0.3 แต้ม ฉีดยา 0.5 แต้ม ให้การเช็ดตัว 1 แต้ม ต่อคนไข้ ส่งต่อผู้ป่วย 40 แต้ม CPR ได้ 25 แต้ม

ลักษณะข้างต้นแสดงว่าศิริราชไม่ใช้ระบบล่าแต้มเหมือน P4P ของสาธารณสุข ที่ทำให้ยุ่งยาก ต้องมีกรรมการตรวจสอบประจำแผนก ตึก และของโรงพยาบาล ซึ่งเดิมทีงานก็หนักอยู่แล้ว ยังต้องจดบันทึกแต้มอีก... การทำงานเป็นทีมก็จะเสียหาย

มุมมองต่อมาพุ่งเป้าไปที่...ระเบียบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในโรงพยาบาลชุมชนเดิมที่ถูกยกเลิก ที่มีการจัดระดับเป็น โรงพยาบาลขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ทุรกันดาร 1, 2 และจัดระดับตามอายุงาน

ส่วนพยาบาลก็มีการจ่ายค่าอยู่เวรบ่าย เวรดึกให้เพิ่มเติม นอกจากนั้น มีการใช้ระเบียบค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ จัดระดับความยากง่ายของงานในกลุ่มการพยาบาล เช่น ไตเทียม ไอซียู วิสัญญี ผ่าตัด หรือพยาบาลเฉพาะทาง...เป็นการจ่ายเงินเพิ่มเติม

ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้...เป็นการจ่ายตามภาระงานแบบหนึ่งแต่ทำให้ง่าย ไม่ซับซ้อน เหมือน P4P หรือ Pay–for–Performance… ที่ทำอยู่ขณะนี้

 “ท่านคณบดีควรสงเคราะห์ให้ความรู้และแนวทางที่ถูกต้องแก่รัฐมนตรีศิษย์เก่าศิริราช ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ไปทำงานในชนบท แม้แต่ปีเดียว...มองเห็นการรักษาคนไข้ที่เป็นการดูแลคนเหมือนการแข่งขัน

ทำขาโต๊ะเฟอร์นิเจอร์ ทาสีแข่งกัน ขาดจิตวิญญาณที่สมเด็จพระราชบิดาสอนให้เห็นประโยชน์คนไข้ที่มาพบแพทย์เป็นกิจที่หนึ่ง....”

นายแพทย์วชิระย้ำว่า แม้แต่ศิริราชยังถูกเอกชนดูดทั้งอาจารย์แพทย์ พยาบาล ในชนบทก็ขาดกำลังคนที่นับวันจะรุนแรงขึ้น …จะไหลไปทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล อย่างรุนแรงกว่า

ปัจจุบันรัฐบาลผลิตทั้งแพทย์ พยาบาล แต่ไม่สามารถดูแลให้มีขวัญกำลังใจที่ดี ทั้งเงินเดือน ค่าตอบแทน สภาพการทำงานที่หนักหน่วง จนเป็นเหตุให้เอกชนเห็นช่องทางในการดึงตัวไปลงทุนแสวงหากำไร บนความทุกข์ยากของประชาชน

ขณะที่ในโรงพยาบาลของรัฐบาลขาดบุคลากร แต่โรงพยาบาลเอกชนก็มีค่ารักษาพยาบาลที่แพงมาก เกินคนยากจนชนชั้นกลางจะจ่ายได้

นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง ทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเหตุและผลที่มาจากเสียงของรุ่นพี่รุ่นน้องหมอในชนบท ที่เป็นเหมือนเกลียวเชือกควั่นตามปณิธานของเลือดศิริราช

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า บริการสุขภาพเป็นสินค้าคุณธรรม ห้ามแสวงหากำไร เนื่องจากต้นทุนด้านบริการสุขภาพ ต้นทุนการผลิตคน บุคลากร มาจากต้นทุนที่เป็นตัวเงินกับไม่ใช่ตัวเงิน

ย้ำกันไปหลายครั้งแล้วว่า... “หมอเมืองไทย” ...ต้นทุนผลิตอยู่ที่คนละ 3-6 ล้านบาท ในส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงิน...นับรวมไปถึงอาจารย์ใหญ่ ผู้เสียชีวิตบวกกับผู้ป่วย เวลาเข้ารับการรักษาก็เป็นอาจารย์ในเคสศึกษา

 “อาจารย์กับผู้ป่วย อยากจะให้หมอได้ศึกษาเรียนรู้ ก็เพื่อต้องการให้เป็นวิทยาทาน เป็นความรู้ ต่อยอด...เพื่อให้ผู้ศึกษาไปดูแลคนยากคนจนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อให้เอกชนได้กำไร”

ฉะนั้น ต้นทุนที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นต้นทุนที่สำคัญ แม้กระทั่งในประเทศสหรัฐฯ เป็นทุนนิยมจ๋าที่สุด เขายังห้ามไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหุ้น

 “พูดกันตรงๆ องค์ประกอบแพทยสภาฯบ้านเราที่คัดเลือกมาจากหมู่หมอ ก็ต้องประชานิยมในหมู่หมอด้วยกันเอง...เป็นกลุ่มก้อนหมอที่อยู่อย่างสุขสบาย แล้วกรรมการก็เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชน ก็เลยปล่อยให้เอกชนเข้าตลาดหุ้นได้ พอเป็นอย่างนี้ก็เลยผิดวัตถุประสงค์”

พุ่งเป้าวกกลับมาที่ภาครัฐ หมอรัฐ ระบบบริการสุขภาพรัฐที่วันนี้ยังดูแลคนไทยไม่เพียงพอ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ แต่ประเทศไทยผิดฝั่งผิดฝามาตั้งแต่โรงเรียนแพทย์...กล่าวถึงกันไว้เป็นกรณีศึกษา เพราะได้ยินมาว่ามีการเปิดห้องพิเศษบริการระดับวีไอพี มีอ่างจากุซซี่แบบโรงแรมระดับ 5 ดาว

คุณหมอเกรียงศักดิ์ บอกว่า ให้นึกถึงเวลาที่ไปขอรับบริจาคทั่วทั้งประเทศ ชาวบ้านบริจาค 5 บาท... 10 บาท...เพื่อที่จะใช้บริการ ไม่น่าเชื่อว่ากรณีที่ว่านี้จะเกิดขึ้นแล้วอีกหลายแห่ง...ก็เลยทำให้รู้สึกว่า ขนาดโรงเรียนแพทย์ที่บ่มเพาะวิชาความรู้กับจรรยาบรรณให้หมอยังเป็นเช่นนี้

ระบบการรักษา พอมี 2 มาตรฐานทั้ง “คนรวย” กับ “คนจน” ถามว่า...คนรวยจะยอมให้นักศึกษาแพทย์มาเรียนไหม “...ผู้หญิงจะยอมให้ตรวจภายในไหม ไม่มีหรอก ก็เลยกลายเป็นความแบ่งแยก ประเด็นต่อมาอาจารย์โรงเรียนแพทย์ก็ต้องแบ่งเวลาในการดูแลคนจน เพราะต้องมาดูแลคนรวย... ก็ต้องแบ่งเวลาไป”

สมมติว่า อาจารย์โรงเรียนแพทย์มีเหลือเฟือ คนไข้ยากจนไม่ต้องรอคิวยาวก็จบไป แต่วันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ทุกวันนี้...ต้องเอารองเท้าไปต่อคิวกันตั้งแต่ตี 5 ถึงจะได้เข้าไปใช้บริการ

...เป็นภาพสะท้อนถึงความขาดแคลนที่มากและหนักหนาสาหัส

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 26 เมษายน 2556