ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการประชุมคณะทำงานเพื่อยกร่างกฎหมายกองทุนค่ารักษาพยาบาล ครอบคลุมการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินและการคุ้มครองความมั่นคงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น และร่วมกันยกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตาม มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันให้ยกร่างในการทำข้อตกลงหรือ MOU ระหว่าง อปท., กระทรวงมหาดไทย, สปสช., คณะกรรมการกระจายอำนาจให้ อปท. และกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ที่ได้รับสิทธิด้านการรักษาพยาบาล คือ ผู้ที่ได้รับสิทธิตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่นและสิทธิที่ได้รับต้องไม่น้อย กว่าเดิม

"ที่มาของงบประมาณมาจากเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯจัดสรรให้ท้องถิ่น โดยท้องถิ่นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน โดยยอดเงินเบื้องต้น จะนำจำนวนสิทธิของพนักงานท้องถิ่นประมาณ 5 แสนคนคูณด้วยรายจ่ายต่อหัว ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท เป็นทุนเริ่มต้น หากใช้ไม่หมดในปีงบประมาณนี้ ให้จัดเป็นทุนค่ารักษาพยาบาลบวกเข้าไปในปีต่อไป โดยมีการทำบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งหมด นอกจากนั้นคณะทำงานมีหน้าที่ยกร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีกองทุนค่ารักษาพยาบาล และทำบันทึกข้อตกลงเพื่อชี้แจงรายละเอียดที่ระบุถึงสิทธิประโยชน์และการได้รับการบริการ เสนอรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย"

นายเชื้อกล่าวอีกว่า สำหรับข้อกังวลและปัญหาที่พบในการประชุม ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เปิดช่อง ให้ยกร่างพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดให้มีกองทุนค่ารักษาพยาบาลสำหรับท้องถิ่นเป็นการเฉพาะได้หรือไม่ โดยไม่ต้องไปขึ้นกับ "คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่ประชุมมีความเห็นกันแล้วว่าตาม มาตรา 9 และมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่น่าจะกำหนด "คณะกรรมการบริหารกองทุน" ขึ้นมาได้ ถ้าจะมีก็ต้องให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นผู้กำหนดหลักเกณท์การดำเนินงานและการบริหารกองทุน ในรูปอนุกรรมการของคณะกรรมการในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะไม่เป็นอิสระ และอาจถูกควบคุมโดยกรรมการชุดใหญ่ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ทางออกที่ประชุมจึงมีความเห็นว่าให้ สปสช. เสนอเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบข้อกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่

--มติชน ฉบับวันที่ 8 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--