ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ เตรียมประชุมเพิ่มเติม ให้ผู้ป่วยจ่าย 30 บาท รพ.ทุกแห่ง 1 ส.ค. จากมติเดิมเน้น รพ.ขนาดใหญ่ ชี้ในทางปฏิบัติทำงานง่าย พร้อมพัฒนาคุณภาพ ขยายเวลารักษาเพิ่ม

หลังจากมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท รักษาทุกโรค เริ่มดำเนินการวันที่ 1 สิงหาคม 2555 โดยการเรียกเก็บจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ เรียกเก็บกรณีประชาชนไปใช้บริการและได้รับการสั่งจ่ายยาเท่านั้น โดยในช่วง 6 เดือนแรก นับจากเริ่มมาตรการให้มีการเรียกเก็บเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลในระดับจังหวัด พวกโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) รวมถึงโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่างๆ ต่อมาอีก 6 เดือน หลังจากนั้นจึงจะขยายไปยังโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ก่อนจะขยายไปยังโรงพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศกลางปี 2555

ล่าสุด นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ จะมีการประชุมบอร์ด สปสช. โดยจะหารือประเด็นร่วมจ่าย 30 บาท เพิ่มเติม โดยเฉพาะกรณีเดิมที่ให้ร่วมจ่ายเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น และค่อยขยายเพิ่มเติมไปยังโรงพยาบาลระดับอื่นๆ ทั่วประเทศกลางปีหน้า ในทางปฏิบัติอาจยุ่งยาก จึงมีข้อเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ทุกโรงพยาบาลดำเนินการให้หมดพร้อมกันวันที่ 1 สิงหาคม

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เรียกร้องถึงสิทธิที่เท่าเทียมอย่างแท้จริงในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 3 กองทุนเสมอ เนื่องจากวิธีการจ่ายเงินไม่เท่ากันในแต่ละกองทุน นพ.วินัยกล่าวว่า ในส่วนนี้คงต้องใช้เวลา เนื่องจากในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปัจจุบันกรณีผู้ป่วยฟอกเลือด จะจ่ายให้หน่วยบริการ 1,500 บาท แต่หากเป็นผู้ป่วยไตวายก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ต้องจ่ายเอง 500 บาท โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) จะจ่ายให้ 1,000 บาท ซึ่งตรงนี้ต้องใช้งบเพิ่ม หากจะให้ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายเอง คาดว่าประมาณ 400-500 ล้านบาท ปัญหาคือ ในปีงบประมาณ 2556 ไม่ได้ทำเรื่องขอไว้ อาจต้องมีการพิจารณาในปีงบประมาณ 2557 แต่ก็ขึ้นอยู่กับมติบอร์ด สปสช.ด้วย

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า สพศท. เห็นด้วยกับการเรียกเก็บ 30 บาท ไม่ว่าจะเริ่มต้นที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือจะเริ่มทุกแห่งทั่วประเทศ เพราะสุดท้ายก็ต้องเรียกเก็บทั้งหมด ซึ่งนโยบายนี้แม้จะมีเงินเข้าระบบไม่มากมายหลายพันล้านบาท แต่ถือว่าเป็นงบประมาณที่ช่วยบรรเทาปัญหาให้แต่ละโรงพยาบาลไม่มากก็น้อย เพราะอย่างน้อยก็ช่วยในเรื่องค่าน้ำค่าไฟ การว่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ค่าโอที เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาแทบไม่เพียงพอเลย

มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555