ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยการพัฒนารพ.สต.คืบหน้า ปีนี้เติมบริการอีก 4 เรื่อง คือ แพทย์แผนไทย ทันตกรรม ห้องแล็บ และการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ประชาชนได้รับการตรวจรักษาเร็ว มั่นใจในปีนี้จะลดคนป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ลงได้ร้อยละ 40 รอบ 7 เดือนปีนี้ มีการปรึกษาผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 5,720 ครั้ง ส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตไปรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ 9,241 ครั้ง

วันนี้ (28 มิถุนายน 2555) ที่ จ.ชัยภูมิ นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมวิชาการสาธารณสุข เขต 14 ครั้งที่ 13 ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาศักยภาพให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต.ซึ่งมี 9,750 แห่งทั่วประเทศ จะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน ลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ผู้ป่วยไม่ต้องเข้าคิวรอตรวจ หรือไปรับยาที่โรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งได้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาห้องแล็บของรพ.สต. ซึ่งจะทำให้มีระบบการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการมีมาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาผู้ป่วยได้แม่นยำยิ่งขึ้น และยังได้พัฒนาศักยภาพอีก 3 ด้าน คือ บริการแพทย์แผนไทย ทันตกรรม และการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน มั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2555 จะลดคนไข้ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนได้ประมาณร้อยละ 40

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ได้จัดบุคลากรอย่างน้อยที่สุดจะมีพยาบาลวิชาชีพประจำทุกรพ.สต. ในอนาคตจะมีแพทย์หมุนเวียนมาที่รพ.สต.อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 วัน บางวันที่ไม่มีแพทย์จะมีระบบปรึกษาแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลทั่วไป ผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อร่วมตรวจวินิจฉัยโรค โดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล โดยรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา มีการปรึกษาผ่านระบบดังกล่าว 5,720 ครั้ง ได้ส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักในระยะวิกฤตไปรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ 9,241 ครั้ง นับว่าเป็นบริการที่มีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยที่ไปใช้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประมาณร้อยละ 80 ใช้บริการที่รพ.สต. ส่งผลให้แพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป มีเวลาให้คนไข้มากขึ้น แทนที่จะดูแลคนไข้ 5-10 นาที ก็จะมีเวลาดูแลได้เพิ่มขึ้นเป็น 15- 20 นาที การตรวจก็จะละเอียดมากขึ้น คิวรอตรวจสั้นลง โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 70 ปีขึ้นไปจะได้รับบริการรักษาพิเศษโดยไม่มีคิว นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังจัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ด้านการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และได้เพิ่มอีก 2 โรค คือโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และโรคเอดส์ สามารถใช้บริการได้ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นโรงพยาบาลต้นสังกัดหรือไม่ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น