ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หมายเหตุ - เป็นเวลาเกือบ 1 ปีที่ "วิทยา บุรณศิริ" ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นงานที่ไม่เคยหยิบจับมาก่อน แต่เจ้าตัวบอกว่า นโยบายของรัฐบาลที่เห็นผลมากที่สุด คือการขับเคลื่อนนโยบาย30 บาทรักษา ทุกโรค และมาตรการการดูแลผู้ป่วยที่เน้นลดความเหลื่อมล้ำของ3 กองทุน ซึ่งประกอบด้วย สิทธิหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่คิกออฟไป เมื่อวันที่1 เมษายนที่ผ่านมา

 

ถาม : กรุณาขยายความนโยบาย 30 บาท ที่เห็นผลมากที่สุด

เป้าประสงค์ของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ชัดเจนว่า ต้องการเดินหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ในทศวรรษที่ 2 ซึ่งจะแตกต่างไปจากเดิม โดยกรณี 30 บาทนั้น ไม่ได้มุ่งแค่การพัฒนาการบริการ สิทธิประโยชน์ให้ดีขึ้นก่อนจะมีการดำเนินการเรียกเก็บ 30 บาทจากผู้ป่วย แต่ยังรวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำในการบริการของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพของประเทศ ซึ่งประเดิมไปแล้ว เรื่องแรกกับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกที่ ใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียวไม่ต้องถามสิทธิ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานกลางในการสำรองจ่าย หรือเคลียริ่งเฮาส์ (Clearing House)

ถาม : ประเมินการให้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในช่วง 1 เดือน

ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา เกิดความบกพร่องน้อยมาก ขั้นต่อไปเตรียมจะเดินหน้าให้สิทธิผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังฝากให้ดูแลเรื่องการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากกว่าการรักษา

ถาม : หลังจากนี้เตรียมเดินหน้าเรื่องใดต่อ

มีหลายเรื่องแต่ทั้งหมดจะเน้นการดูแลป้องกันโรคเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน การดูแลผู้ที่ป่วยอยู่แล้วก็ต้องดำเนินการอย่างเต็มประสิทธิภาพ เริ่มจากเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ขวบ ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดูแลในเรื่องของพัฒนาการเด็กโดยจะมีสมุดพัฒนาการ 1 เล่ม ในการติดตามข้อมูลของเด็กแต่ละคน ส่วนกรณีเจ็บป่วยก็จะเป็นหน้าที่ของ สปสช.ในการดูแล ขณะเดียวกัน ผู้ที่ป่วยอยู่แล้ว อย่างกรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ติดเชื้อเอชไอวี หลังจากมีการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.แล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถประกาศครอบคลุมผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุน

ถาม : จะลดความเหลื่อมล้ำผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ติดเชื้อเอชไอวี อย่างไร

ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา แต่จะเน้นในเรื่องการรักษาให้ได้สิทธิเท่าเทียมทั้ง 3 กองทุน อย่างกรณีผู้ป่วยไต ปัจจุบันการล้างไตอยู่ที่ 1,500 บาทต่อคนต่อครั้ง โดยผู้ป่วยต้องร่วมสมทบอีก 500 บาท ตรงนี้จะให้ครอบคลุมทั้งหมด แต่เรื่องนี้ต้องรอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณา หลังได้เลขาธิการ สปสช. เชื่อว่าจะสามารถประกาศเดินหน้าได้ทันที

ถาม : ทศวรรษที่ 2 จะเน้นเรื่องการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกอย่างไร

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก วิธีหนึ่งคือ การใช้วัคซีน ซึ่งนายกฯให้ศึกษาเรื่องนี้ว่ามีแนวโน้มจะทำได้ในปีนี้หรือไม่ โดยล่าสุด มีตัวเลขผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ควรรับวัคซีนเพื่อป้องกันประมาณ4 แสนราย ส่วนใหญ่จะเน้นในกลุ่มอายุ 12 ปี ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายป้องกันโรค แต่ไม่ใช่เน้นเรื่องนี้อย่างเดียวเรื่องอื่นๆก็ทำไปแล้ว ทั้งการดูแลเรื่องอาหารการกินในโรงพยาบาล เช่น ภาคใต้มีการรณรงค์อาหารฮาลาลเพื่อสุขภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ลดหวาน มัน เค็ม

ถาม : แต่มีบางกลุ่มคัดค้านวัคซีนมะเร็งปากมดลูกเพราะราคาแพง

ยอมรับว่าราคายังสูงเกินไป ตรงนี้ต้องศึกษาต้นทุน ที่ผ่านมา...โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เคยทำการศึกษาว่าไม่ควรเกินเข็มละ 200 บาท ก็ต้องนำมาเปรียบเทียบด้วย เรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จส่วนกลุ่มที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็ยังต้องดูแล

ถาม : เห็นว่ามีการให้ความสำคัญกับมาตรฐานการบริการและรักษา

ใช่ ที่เริ่มแล้วคือ การแก้ปัญหารอคิวนาน ล่าสุดมีนโยบาย 70 ปี ไม่ต้องรอคิว

ถาม : มีแนวโน้มจะรวม 3 กองทุนหรือไม่

ขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายนี้แน่นอนซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เคยประกาศชัดเจนเช่นกัน เพราะการจะรวมกันไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากบางกองทุนเช่น ประกันสังคม ก็มีร่วมจ่าย เวลานี้เน้นในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิมที่เคยเหลื่อมล้ำกันหรือห่างกันมาก ขณะนี้เริ่มดีขึ้น อย่างกรณี 30 บาท ที่มีแผนจะให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย ก็จะมีการพัฒนาบริการมากขึ้น

ถาม : นโยบายอะไรที่ต้องเร่งดำเนินการต่อจากนี้

มีเรื่องเมดิคัลฮับ ล่าสุดได้ขยายเวลาในการพำนักของผู้ป่วยและญาติให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้นานขึ้น จากเดิมให้อยู่ได้เพียง 30 วัน เป็น 90 วัน ตรงนี้ถือเป็นการเอื้อให้โรงพยาบาลเอกชน โดยจะช่วยในเรื่องตัวเลขของเศรษฐกิจด้วยกรณีผู้ติดตามผู้ป่วย ส่วนภาครัฐจะเน้นในเรื่องมาตรฐานของสปาและการแพทย์แผนไทยให้ดีขึ้นให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ถาม : ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งมีงานอะไรที่ยังเป็นปัญหา

เรื่องความมั่นคงของบุคลากรซึ่งไม่เน้นขยาย เพราะขณะนี้ใช้ระบบเทเลเมดิซีนในการให้แพทย์โรงพยาบาลใหญ่เป็นที่ปรึกษาผ่านเทเลเมดิซีนให้กับบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งก็ดูได้ระดับหนึ่ง เช่น จ.หนองคาย ก็เทเลเมดิซีนคอยดูแลเรื่องนี้อยู่อย่างกรณีตรวจเลือด แพทย์อ่านผลออนไลน์คุยกับแพทย์หน้าจอเลย โดยภายใน 6 เดือนนับจากนี้ คาดว่าจะขยายแพทย์เทเลเมดิซีนได้เกิน 1,000 แห่ง แต่ที่ห่วงคือ กรอบอัตราที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เคยบอกจะให้ สธ. 20,000 อัตราเศษ ต้องเดินหน้าเรื่องนี้ส่วนสถานบริการก็มีมาตรฐานการบริการ เชื่อว่าในระยะสั้นจะปรับได้มากขึ้น อย่างกรณีลดความแออัดต่อโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีปัญหาความแออัด การรอคิว ขณะนี้ในบางแห่งลดปัญหาการรอคิวได้ถึงร้อยละ 40

ถาม : เข้มข้นกับการแก้ไขปัญหายาซูโดอีเฟดรีนล่องหนไปจากระบบ กังวลหรือไม่

ไม่กังวล เพราะข้อมูลที่เราส่งไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งตลอดเวลาเราก็มีมาตรการมาอย่างต่อเนื่องอย่างกรณีสารตั้งต้นก็มีการออกมาตรการ จนพบว่ามีความผิดปกติที่ไหน มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะนี้เหลือการสอบวินัย ซึ่งหากพบว่าข้าราชการรายใดผิดวินัยจริง ก็ต้องให้ออก คดีทางแพ่งก็ต้องชดใช้ คดีทางอาญาก็เป็นหน้าที่ของตำรวจทำงานขนาดนี้ให้คะแนนตัวเองเท่าใด

ผมไม่เคยให้คะแนนตัวเอง คนอื่นต้องให้คะแนนผมคิดว่าผลงานเข้าตาผู้ใหญ่ในพรรคหรือไม่ก็แล้วแต่ผู้ใหญ่ ผมทำงานเต็มที่ ถ้าไม่เกิดวิกฤตมหาอุทกภัย ผมว่าจะสามารถทำงานได้เร็วกว่านี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 เมษายน 2555